หน้า: [1]
 
ผู้เขียน หัวข้อ: ลิตเติ้ลบรัช อักษรป้ายลายมือ ยุค 80  (อ่าน 1098 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 ขาจร กำลังดูหัวข้อนี้
ฟอนต์ป้ายลายมือ...สืบสานตำนานศิลป์


จะเป็นการเล่าเรื่องป้าย ลายมืองานเขียน ในอดีตกาล ยาวนานจนแทบจะลืม  ในระหว่างยุค 80 ช่วงปี พ.ศ. 2537





     ตัวหนังสือไทย ที่เราหัดเขียนกันมา สมัยยังเป็นเบบี๋ ก็เริ่มจากตัวขมวดหัว ยกเว้น ก.ไก่ กับ ธ.ธง ส่วนตัวมีหัวหยัก ฃ.ฆ.ซ.ฑ.
โดยเฉพาะ ฃ. เริ่มจะไม่นิยมกัน อาจเป็นเพราะเสียเวลาขี้เกียจขยักหัว มายุคนี้ ตัวเลขส่วนมากเขียนตัวอารบิก เพราะง่ายกว่าเขียน
ภาษาไทย ต้องมีการขยุกขยิกม้วนไปมา  หากเป็นครูที่สอนภาษาไทย ผู้ยึดมั่นอยู่ในอธิปไตย ความเป็นไทยแท้ เห็นแล้ว มีเคือง
     เด็กสมัยก่อน ในโรงเรียน ครูจะสอนให้เขียนภาษาไทยแบบมีหัว ตัวบรรจง อ่านง่าย สบายตา พอออกมานอกโรงเรียนเห็นตัว
อักษร ทั้งสื่อโฆษณาต่างๆ มีอันมึนๆงงๆ อ่านไม่ค่อยออก เพราะเคยเขียน เคยเห็นแต่ตัวมีหัวเท่านั้น ยิ่งมายุคนี้ การปริวัติตัวอักษร
ก็มีมากมายหลายหลากขึ้น ตัวที่เคยมีหัวโค้งมน ก็กลับหัวหาย ลำตัวตรงเย็นชาแข็งทื่อ ถึงตัวอักษรจะมีแปลกแหวกเอ๊ะขนาดไหน
แต่พี่ไทยก็อ่านออก เพราะเทียบเคียงข้อความอักษรที่ตนเคยได้เห็นได้ดูมาก่อนแล้วนั่นเอง ยิ่งเห็นบ่อยๆก็จะชินตา ยิ่งพิศดารมาก
ก็จะเป็นจุดสนใจ สะกดสายตาและอารมณ์ เพราะคนอ่านจะมึนๆงงๆ (มันหมายฟามว่าไรเนี่ย) เผลอๆ อาจจะเคืองมองข้ามไปเลย
     มีเจ้าฟ้านางใน ท่านไปเที่ยวต่างประเทศ เห็นฝรั่งเขาใช้ปากกาสปีดบอล เขียนจดหมายบันทึกหนังสือราชการวังใน เลยนำมา
ใช้เขียนภาษาไทยดูบ้าง (ตัวหัวตัด) ต่อมา จึงมีการใช้พู่กัน นำมาเขียนงานป้ายโฆษณาใหญ่ๆกว่าได้ (ตรงนี้เดาเอา)
สำหรับช่างเขียน ถ้าเป็นต้วหัวตัดปกติ งานจะง่ายบายๆฟินๆ แต่ตัวที่ไม่อยากเจอ คือตัวราชการหัวกลม เพราะต้องม้วนหัวพักใหญ่

     บทความนำเสนอนี้ จะพูดถึงเรื่องอักษรป้ายลายมือ ที่มีต้นกำเนิดจากปากกาสปีดบอล พู่กันสง่า หรือปากกาหัวตัดต่างๆ
ที่ช่างเขียนงานป้าย ต่างได้เคยสัมผัสกันมาแล้ว เริ่มต้นด้วยตัวหัวตัด หรือตัวริบบิ้น เมื่อผู้เขียนเกิดทักษะความชำนาญ ก็พลิก
แพลงไปได้หลากหลาย ขยายไปได้ไร้จำกัด จนกลายเป็นอัตลักษณ์เฉพาะตัวของผู้เขียน เหมือนกับฟอนต์ลายมือในตอนนี้
ในที่นี้ จะจำกัดพิกัดพื้นที่ ตัวอักษรป้ายลายมือ อยู่ในอาณาจำกัด เขตพระนคร-ปิ่นเกล้า และพื้นที่ใกล้เคียงเล็กน้อย

ที่อื่นไกล ไปไม่ถึง เพราะผู้เล่าตอนยุค 80 นั้น อยู่บริเวณเสาชิงช้า หน้าที่ว่าการ กทม.
สถานที่ทำงาน ก็เป็นอีกหนึ่ง ที่ก่อเกิดอักษรป้ายลายมือของช่างเขียน (แผนกศิลป์) ขออนุญาตนำภาพเก่าๆมาลง เพิ่มบรรยากาศ



     บริเวณหน้าห้างพาต้า ปิ่นเกล้า ถ่ายเอง เมื่อปี 2538 พอดีในห้างเขาไม่ให้ถ่ายบันทึก แต่นอกห้าง ไม่มีป้ายห้าม เลยเสร็จเรา
ที่ถ่ายไว้ ไม่ใช่ไรหรอก ก็เขียนป้ายผ้ากับรุ่นพี่ ติดหน้าห้าง ก็ภูมิใจเป็นเรื่องธรรมดาของวัยรุ่นอย่างเรา ปัจจุบันห้างเขาปรับแล้ว
พาต้าเป็นห้างสรรพสินค้า ที่เปิดมาก่อนในยุคแรกๆ ย่านปิ่นเกล้า ใกล้ท้องสนามหลวง เขตพระนคร จึงเป็นศูนย์กลางที่พักผ่อน
จับจ่ายเที่ยวเล่นของบรรดาวัยสะรุ่นในยุคนั้น ก่อนจะมี เซ็นทรัล สยามพารากอน เวิลด์เทรด โซโก้ Big C นิวเวิร์ล เมอรี่คิงส์
ต่างๆ ผุดขึ้นตามมามากมาย จากการเขียนป้ายผ้าของช่าง ก็เริ่มเปลี่ยนไปเป็นการออกเแบบดีดคอมพิ้ว พิมพ์ด้วยไวนิล

ที่วงเวียน 22 จะมีร้านป้าย ให้เลือกมากมายหลายรูปแบบ แต่ที่มีเห็นกระจายติดตั้งตามที่ต่างๆ  จะเป็นป้ายชั่วคราวตามงานเทศกาล
ขอนำภาพฝีมือของช่างเขียนที่พอมีอยู่ มาลงประกอบครับ





พอเริ่มได้เห็นบรรยากาศแล้ว...สังเกตุว่า ป้ายจะเป็นผ้า และมีเป็นไม้บ้าง การเขียนจะเป็นฝีแปรงทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นอักษรรูปแบบไหน
แต่ผ้าที่ช่างชอบเขียน คือผ้าของบริษัทน้ำดื่ม (โค้ก) เพราะชุบหน้าด้วยข้าวแป้ง เขียนรื่น เร็ว แรง ทะลุทะลวง

   งานฝีแปรงของผู้เล่า ก็มีบ้างเล็กน้อย เดี๋ยวจะหาว่า เอาแต่ของคนอื่นมาลง  น่าจะพอไปวัดไปวากับเขาได้บ้าง





     สำหรับ ป้ายลายมือ ที่นำมาทำเป็นฟอนต์ จะเป็นฝีแปรงของช่างจากป้ายราคาสินค้าในห้าง ไม่ได้เก็บภาพมาครับ
เลือกเอาลายมือที่ดูโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ตัวหัวตัดริบบิ้นก็ปกติทั่วไปเห็นกันเยอะแล้วครับ
เริ่มกันที่ฝีมือของช่างเมอร์รี่คิงส์ก่อน อันแรกเป็นภาพทิพย์ สมมุติขึ้นมานะครับ จริงๆแล้วเขาเขียนสวยกว่านี้



ภาพต่อมา เป็นรูปแบบตัวเขียน จากป้ายราคา ที่ติดเป็นโมบายขายสินค้า ไปแอบๆยืนจดเอาไว้ ทำตัวเหมือนผู้จัดการ
ไม่มีครบทุกตัวอักษร ที่ขาด ก็ตีเนียนใส่มั่วเข้าไป รูปแบบอาจมีแตกต่างกันไปบ้าง เอาที่ช่างสบายใจ
เริ่มที่ป้ายราคาห้างเมอร์รี่คิงส์-ปิ่นเกล้า


ขากลับเหลือบไปเห็นป้ายการประปา


นั่งรถเมล์ ไปที่ มหาจุฬา วัดมหาธาตุ เป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย  สำหรับฝ่ายธรรมยุติ คือ มหามกุฎฯ
มหาจุฬา ของสงฆ์ มีชื่อเต็มว่า มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ชื่อเล่นว่า มหาจุฬา
จุฬา ของชาวบ้าน มีชื่อเต็มว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชื่อเล่นว่า จุฬา  ดูเผินๆ อาจสับสนงงๆ สังเกตุคำว่า มหานำหน้า
พบลายมือที่มีเอกลักษณ์ ของท่านผู้หนึ่ง............และแวะซื้อเครื่องเขียน ศึกษาภัณฑ์ ราชดำเนิน


มาลงที่วัดสุทัศน์ ช่างเขียนจาก กรมศิลปากร มาช่วยอนุลักษณ์ จิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถ ด้วยการฉีดน้ำยาประสานผิวปูน
ที่เก่าผุกร่อน..............แถมด้วยลายมือ ท่าน พ.ม.ดาวเรือง (ในขณะนั้น)



ติตามมาด้วย ป้ายลายมือ ที่วัดโพธิ์ เจ้าตำรับยาสมุนไพร-นวดแผนโบราณ-ฤาษีดัดตน ปนนิทานเล็กน้อย
ยักษ์วัดโพธิ์หน้าตาตี๋ๆออกไปทางจีน เพราะเกิดมาจากการร่วมมือกันค้าขายทางเรือสำเภาระหว่างจีนกับไทย
ในช่วงสมัย ร.3  ยักษ์วัดโพธิ์ จึงออกหน้าตาลูกครึ่งโกอินเตอร์ เพื่อเอาใจจีนว่าเราเป็นพี่น้องกัน ทำให้ถูกบูลลี่
จากยักษ์วัดแจ้ง ทั้ง 2 ต่างทะเลาะกัน ส่งไลน์นัดดวลตัวต่อตัว ระหว่างมวยไทยกับมวยจีน จนท่าเรียบเตียน
หลายคนก็ต่างเล่า เฮ้..อันนี้ มันเรื่อง จัมโบ้เอ นี่หน่า นี่ยังไม่รวมถึง บุญเพ็งหีบเหล็ก แร้งวัดสระเกษ เปรตวัดสุทัศน์

ข้ามโป๊ะเรือ ไปฝั่งธน ที่วัดประยูร


ส่วนนี้ คละๆกันไป



ป้ายลายมือ ที่นำมาทำเป็นฟอนต์ เลือกเฉพาะที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์  ทำไว้ 5 ชุด ดังต่อไปนี้

ชุดที่ 1. SP_Merry-เมอร์รี่ มาจากเมอร์รี่คิงส์


ชุดที่ 2.SP_Ribbon ริบบิ้น


ชุดที่ 3.SP_KoTho กท มาจาก ป้ายผ้าของการประปา กรุงเทพ


ชุดที่ 4.SP_Alak อาลักษณ์


ชุดที่ 5.SP_MoChoRo มจร


นำมาทำเป็นฟอนต์ ด้วยบรัชเล็กๆ ธรรมดาๆ อาจจะไม่ตรงปกเหมือนต้นฉบับแป๊ะ พลิกแพลงไปตามจังหวะลีลาของบรัช
พอจะเป็นแนวทางเล็กๆน้อยๆ หากท่านไหน ต้องการนำไปทำฟอนต์ เชิญเลยนะครับ ขอย่างเดียว อย่าให้สวยเกิ๊น...ก็พอ

เรื่องเก่านำมาเล่าใหม่ ต่างคนต่างแง่มุมมอง บางทีอาจจะมีคลาดเคลื่อนไปบ้าง ปกติเป็นคนหน้าตาดี มีความขยัน ความจำเป็นเลิศ
แต่ส่วนมาก มักจะไม่ปกติ......ฮ่า ๆๆๆๆ (หยอกๆ)

น่าจะ ปรา-รถ-นา-ดี  จาก SP-FONT ภาพอาจจะเยอะลายตาไปหน่อยครับ
แด่ทีมงานช่างศิลป์พาต้า ทริปทะเลชะอำ ช่วงปี 2538 (มาถ่ายรูปกันไม่ถึงครึ่ง)



ขอขอบคุณ เจ้าของผลงานฝีไม้ลายแปรงทุกท่าน  เพื่อไว้เป็นกรณีศึกษาเรียนรู้ ขออภัย ที่ไม่ทราบชื่อเสียงเรียงนาม
ฝีมือของท่าน จะยังคงอยู่ในความทรงจำตลอดไป จนกลายเป็นตำนาน ก่อนจะค่อยๆเลือนลางจางหายไปตามกาลเวลา
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 07 ม.ค. 2025, 10:24 น. โดย พอ จะ นะ » บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
 
 
Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006-2007, Simple Machines | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!