ผมไม่ทราบว่ามีคนตั้งกระจู๋มาก่อนหรือเปล่า ถ้าซ้ำก็ขอโทษด้วยครับ
จาก
http://decha.com/main/showTopic.php?id=835 ครับ
วันนี้ผมได้รับคำร้องทุกข์จากคุณแม่ของเด็กอายุ 12 ขวบ ซึ่งประกอบอาชีพขายของอยู่ที่ห้างสรรพสินค้าซีคอนสแควร์ โดยร้องทุกข์ว่า ได้ถูกตัวแทนรับมอบออำนาจจากแกรมมี่และตำรวจของสน.ประเวศเข้าจับกุมเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์ของ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน)
ข้อเท็จจริงโดยย่อ วันที่ 17 มีนาคม 2550 เวลา 18.30 น. ร้านสยาม YaHoo อยู่คลองถมซีคอน ชั้น 3 เป็นร้านเลขที่ 48 ขายกรอบรูปวิทยาศาสตร์ โปสเตอร์ และพวกของสะสมเกี่ยวกับภาพยนต์ สินค้าแม่เหล็กติดตู้เย็น เช่น ภาพยนต์เรื่อง เก๋า เก๋า , แจ๋ว , เด็กหอ , หมากเตะโลกตะลึง ซึ่งร้านรับมาจากบริเวณหน้าโรงภาพยนต์ SF ซีนีม่า เดอะมอลล์บางกะปิ โดยดูหนัง 1 เรื่อง ก็ให้มา 1 ชิ้น บางครั้งลูกค้าก็ได้มาจากการดูภาพยนต์ แล้วมาขายให้ที่ร้าน ซึ่งขายในราคา 5 บาท และร้านก็ขายต่อในราคา 10 บาท
มีตำรวจนอกเครื่องแบบ อ้างว่ามาจาก สน.ประเวศ และผู้รับมอบอำนาจจากบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ชื่อ นายทรงยศ ลักษณะจันทกานต์ เจ้าของร้านไม่อยู่ ในร้านมีเด็กหญิงพิชญ์สินี ประภาจะโนบล อายุ 12 ปี อยู่ในร้านคนเดียว มีลูกค้าอยู่หนึ่ง และแม่ของเด็กหญิง 1 คน เด็กบอกว่าให้แม่ไปเอารถที่ซ่อมอยู่ และให้ลูกค้าอยู่เป็นเพื่อนเด็กหญิง ผู้รับมอบอำนาจจากแกรมมี่กับพวกรวม 6-7 คน ถามแม่เหล็กอันละเท่าไหร่ เด็กบอกว่าราคา 10 บาท หนังใหม่ ผู้รับมอบอำนาจจากแกรมมี่ ให้เด็กหญิงถือแม่เหล็กไว้พร้อมเงิน พวกอีกหลายคนกรูเข้ามาในร้าน เห็นเด็กถือแม่เหล็กอยู่ เข้ามาแสดงตัวจับกุม และรื้อของภายในร้าน ไม่มีหมายค้น แสดงตัวพร้อมใบมอบอำนาจ แจ้งข้อหา ละเมิดลิขสิทธิ์ผู้อื่นเพื่อการค้าโดยขาย เสนอขาย มีไว้เพื่อขาย แจกจ่ายในลักษณะที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท ซึ่งงานศิลปกรรม ศิลปะประยุกต์ โดยมิได้รับอนุญาต อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 27 , 28, 29, 30, 31 ,69, 76
นางสาววิยะดา สุนทรวัฒน์ ซึ่งเป็นลูกค้าที่ร้าน บอกว่า ต้องรอให้แม่เด็กมาก่อน ทางผู้รับมอบอำนาจจากบริษัท แกรมมี่ และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่ยอม หลังจากนั้นพาเด็กไปยังสถานีตำรวจนครบาลประเวศ นางสาววิยะดา สุนทรวัฒน์ ถูกควบคุมตัว 1 คืนในห้องขัง สน.ประเวศ ในระหว่างรอการปล่อยตัวชั่วคราว โดยพนักงานสอบสวนเรียกเงินประกันวงเงิน 50,000 บาท ส่วนเด็กหญิงส่งตัวไปสถานพินิจในตอนเช้า
นางสาววิยะดา ไม่ได้ถูกจับขณะกระทำความผิด เพียงแต่นั่งอยู่ในร้านดังกล่าว การจับกุมของตำรวจ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และการที่ตำรวจเข้าจับกุมในคดีนี้ โดยอ้างว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์และเป็นการจับกุมเด็กเข้าไปด้วย ผมขอวิเคราะห์คดีนี้ดังนี้
1. คดีนี้ผมเห็นว่า เจ้าของลิขสิทธิ์ทำเกินไป ทำได้แม้กระทั่งเด็กอายุ 12 ขวบ มองผลประโยชน์หรือปกป้องผลประโยชน์ในฐานะเจ้าของลิขสิทธิ์เกินงามไปสักหน่อย น่าจะมีความเมตตาต่อเด็กและเยาวชนบ้าง
2. พฤติกรรมในการล่อซื้อของผู้รับมอบอำนาจไม่น่าจะเป็นผู้เสียหาย มีลักษณะของการส่งเสริมให้ผู้อื่นกระทำความผิด กล่าวคือ เด็กมิใช่เจ้าของร้านและไม่ได้มีหน้าที่ขายสินค้า แต่ไปขยั้นขยอให้เด็กเอาสินค้ามาขาย เพื่อจะสร้างพยานหลักฐานให้เห็นว่ามีการกระทำความผิดซึ่งหน้า และอาศัยวุฒิภาวะของความเป็นผู้ใหญ่ที่เหนือกว่าทำให้เด็กต้องยอมทำตามและจับกุมทันที ผมมองว่าคดีนี้ เจ้าของลิขสิทธิ์ไม่น่าจะเป็นผู้เสียหาย น่าจะเป็นผู้ก่อให้เกิดการกระทำความผิดมากกว่า ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีคำพิพากษาในคดีนี้เกี่ยวกับการล่อซื้อ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ โดยผู้ล่อซื้อ พยายามที่จะให้เจ้าของร้านคอมพิวเตอร์ใส่โปรแกรมผิดกฎหมายลงในเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งศาลฎีกามีคำพิพากษายกฟ้องมาแล้ว ผมขอให้เด็กสู้คดี โดยอ้างหลักกฎหมายโดยที่ผมกล่าวมาข้างต้น
3. แม่เหล็กเจ้าของร้านได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีการกระทำใด ๆ ที่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ เช่น ไม่มีการทำซ้ำ ดัดแปลง หรือทำขึ้นใหม่ หรือเลียนแบบ อันจะเป็นความผิดตามมาตรา 27 , 28 , 31 สินค้าที่รับมาจำหน่ายก็ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย โดยการให้หรือการซื้อมา สิทธิ์ขาดในสินค้าจึงเป็นของผู้ซื้อ เมื่อผู้ซื้อจำหน่ายให้บุคคลภายนอก จึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย มิใช่การละเมิดลิขสิทธิ์ตามที่บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ กล่าวหา
4. การจับกุมของตำรวจเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย และมีการรื้อค้นทรัพย์สินภายในร้าน โดยไม่มีหมายค้น ก็เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายโดยชัดแจ้ง เห็นควรให้ผู้ถูกจับกุมร้องขอความเป็นธรรมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติต่อไป เพื่อปกป้องสิทธิของตัวเอง
สุดท้ายนี้ ขอฝากว่า กฎหมายลิขสิทธิ์มิได้มีไว้สำหรับเจ้าของลิขสิทธิ์ใช้เป็นเครื่องมือในการบีบผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ และเรียกเงินเรียกทองในจำนวนที่สูงกว่าความเป็นจริง การใช้กฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์ ต้องบังคับใช้กฎหมายในทางสุจริต มิใช่ใช้กฎหมายในลักษณะของการเอารัดเอาเปรียบสังคม และข่มเหงรังแกประชาชนรวมทั้งเด็กและเยาวชนที่ไม่มีทางสู้ ผมฝากไว้แค่นี้ครับ
ข้อความเหล่านี้ ผมได้แก้บางส่วน จาก บริษัทแกรมมี่ เป็น บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ [จำกัด (มหาชน)]
___________________________________________
ซึ่งข้อมูลที่ผมพอรู้มาเกี่ยวกับเรื่องนี้คือ
บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ได้แต่งตั้งให้ บริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค พับลิชชิ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (G''MM' MPI) เป็นตัวแทนในการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ และดำเนินคดีต่อผู้ละเมิดลิขสิทธิ์
แต่ในกรณีนี้ แม่เหล็กเป็นของแถมมาจาก SF ซึ่งลิขสิทธิ์ของแม่เหล็กจริงๆ เป็นของ โรงภาพยนตร์ SF Cinema และการที่ G''MM' MPI ดำเนินการอย่างนี้ถือว่าไม่ถูกต้องนะครับ
สุดท้าย ขอขอบคุณผู้ที่มาอ่านกระจู๋นี้ และท่านคิดเห็นเป็นประการใดก็ขอให้แสดงความคิดเห็นต่อนะครับ