มนต์-มนตร์
[/b]
คำว่า “มนต์” และ “มนตร์” ทั้ง ๒ คำนี้ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้เก็บเป็นตัวตั้งไว้คู่กัน และได้ให้ความหมายไว้อย่างเดียวกันว่า “น. คำศักดิ์สิทธิ์, คำสำหรับสวด, คำสำหรับเสกเป่า.” และยังบอกรากศัพท์ไว้ด้วยว่า บาลีว่า “มนฺต” สันสกฤตว่า “มนฺตฺร”
คำในภาษาบาลีและสันสกฤตซึ่งมีความหมายอย่างเดียวกัน แต่เรานำมาใช้ในภาษาไทย ให้มีความหมายต่างกันมีอยู่มากมาย เช่น “วิตถาร” กับ “พิสดาร” ความหมายเดิม แปลว่า “กว้างขวาง” อย่างเดียวกัน แต่เมื่อเรานำมาใช้ในภาษาไทย เราใช้ต่างกัน
คำว่า “พิสดาร” (พิด-สะ-ดาน) พจนานุกรม ได้ให้ความหมายไว้ว่า “ว. กว้างขวาง; ละเอียดลออ (ใช้แก่เนื้อความ); (ปาก) แปลกพิลึก. (ส. วิสฺตาร; ป. วิตฺถาร).”
ส่วนคำว่า “วิตถาร” พจนานุกรม ได้ให้ความหมายไว้ว่า “ว. กว้างขวาง, มากเกินไป, พิสดาร. (ป.; ส. วิตฺตาร); นอกแบบ, นอกทาง, (เกินวิสัยปรกติ).”
เราจะเห็นได้ว่าคำว่า “วิตถาร” ซึ่งเดิมมีความหมายอย่างเดียวกับ “พิสดาร” นั้น เราใช้ในอีกความหมายหนึ่ง ซึ่งไม่ใกล้เคียงกับความหมายเดิมเลย
คำว่า “มนต์” กับ “มนตร์” ก็เช่นกัน แม้คำทั้ง ๒ นี้จะมีความหมายอย่างเดียวกัน แต่เมื่อนำมาใช้ในภาษาไทย จะใช้ต่างกัน
ถ้าหากเป็นเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ใช้ “มนต์” เช่น เจริญพระพุทธมนต์ น้ำพระพุทธมนต์ หนังสือสวดมนต์ฉบับหลวง
ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับศาสนาอื่น เช่น ศาสนาพราหมณ์ ใช้ “มนตร์” เช่น น้ำเทพมนตร์ เวทมนตร์คาถา น้ำมันมนตร์
ถ้าหากท่านได้อ่านหมายกำหนดการเกี่ยวกับพระราชพิธีในพระบรมมหาราชวังจะเห็นได้ชัดว่า ถ้าเป็น “พระพุทธมนต์” จะใช้ “มนต์” รูปบาลี ถ้าเป็น “เทพมนตร์” จะใช้ “มนตร์” รูปสันสกฤต แม้คำทั้ง ๒ นี้ในภาษาเดิมจะหมายความอย่างเดียวกัน แต่เราก็นำมาใช้ต่างกัน
นอกจากนั้น ถ้าใช้เป็นส่วนหน้าของคำสมาสหรือในบทร้อยกรองก็นิยมใช้ “มนตร” เพราะออกเสียงได้เพราะกว่า เช่น มนตรยาน (มน-ตฺระ-ยาน) หรือในบทร้อยกรองว่า “ผูกงูด้วยมนตรา วิทยาอาคมขลัง” ในกรณีอย่างนี้ถ้าใช้เป็นรูปบาลีว่า “ผูกงูด้วยมนตา” ก็จะฟังดูเหมือนกับคนนั้นพูดไม่ชัด.
ผู้เขียน : ศ.จำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต สำนักศิลปกรรม
ที่มา : ภาษาไทยไขขาน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แพร่พิทยา. ๒๕๒๘. หน้า ๔๓-๔๔.