http://www.ffc.or.th/webboard/viewtopic.php?t=306ประเทศไทยมีพระสงฆ์ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบอยู่หลายรูป ทั้งพระป่าและพระเมือง
แต่เมื่อพระหลายรูปนั้นมรณภาพไป คำสอน แนวทางปฏิบัติของหลายๆ ท่านจะห่างหายลางเลือนไปจากจิตใจของลูกศิษย์ลูกหาด้วย
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ "หลวงปู่แหวน" 2 ปี หลังจากท่านละสังขาร วัดดอยแม่ปั๋ง ที่อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ แทบกลายเป็นวัดร้าง
แต่สำหรับ "ท่านพุทธทาส" แม้วันนี้ท่านจากไปเป็นเวลากว่า 10 ปี แต่คำสอน แนวปฏิบัติของท่าน กิจกรรมที่สวนโมกข์ ยังคงอยู่เป็นปกติ ทั้งยังมีเผยแพร่ออกมาอย่างกว้างขวาง เหมือนกับวันที่ท่านยังมีชีวิตอยู่
ในวาระชาตกาล 100 ปี (พ.ศ.2449-2549) ของท่านพุทธทาส ศาสนปราชญ์ผู้อยู่เหนือกาลเวลา นิตยสาร "ศิลปวัฒนธรรม" ฉบับเดือนพฤษภาคมนี้ จึงนำเสนอแนวคิดของท่านพุทธทาส ผ่านมุมมองของ ส. ศิวรักษ์, พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) และ พระไพศาลวิสาโล
เส้นทางในบวรพุทธศาสนาของท่านพุทธทาส เริ่มจากการบวชเป็นเณรและพระที่วัดใกล้บ้าน แม้กระนั้น การบวชและเรียนของท่านก็เป็นไปอย่างจริงจังก่อนจะกลับไปลงหลักปักฐาน บุกเบิกพุทธภารกิจ ที่ไม่ยึดติดกับพิธีกรรม รูปเคารพ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่มุ่งหาความจริงของศาสนา ซึ่ง ส. ศิวรักษ์ กล่าวถึงเจตนารมณ์ที่แน่วแน่นี้ว่า
"เมื่อพระมหาเงื่อม อินทปัญโญ ประกาศตนเป็นทาสของพระพุทธเจ้า พร้อมกับการตั้งสวนโมกขพลารามขึ้นที่ไชยา ณ วันเพ็ญเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2475 นั้น ถือได้ว่านั่นคือการอภิวัตน์ในทางศาสนจักรครั้งสำคัญยิ่งของสยาม นับได้ว่ายิ่งใหญ่กว่าการตั้งคณะธรรมยุติกนิกายของเจ้าฟ้าพระมงกุฎ วชิรญาณภิกขุ ในรัชกาลที่ 3 เสียอีก...
แม้การตั้งคณะธรรมยุต จะเป็นการท้าทายโลกาภิวัตน์สมัยโบราณตามแบบไตรภูมิพระร่วง ซึ่งถูกกล่าวหาว่าล้าสมัย ให้คำสอนของพระศาสนาหันเหไปในทางความทันสมัยของวิทยาศาสตร์ตะวันตก ซึ่งก็ให้ทั้งคุณและโทษ พร้อมกันนั้นการเคร่งครัดกับการทำวัตรเช้าค่ำ และการลงอุโบสถสังฆกรรมอย่างสม่ำเสมอทุกๆ ปักษ์ ย่อมถือว่าเป็นการรื้อฟื้นพุทธประเพณีที่ควรแก่การสรรเสริญและมีอิทธิพลต่อไปยังพระมหานิกาย ให้ปรับปรุงตนเองในทางสิกขาวินัยตามไปด้วย
แต่การที่คณะธรรมยุตเหยียดพระมหานิกายว่าเป็นเพียง "อนุปสัมบัน" นั้น แม้จะไม่ถือว่านี่คือสังฆเภท แต่ก็เป็นการกดขี่พระภิกษุศรีอยุธยาให้ต่ำต้อยกว่าพระนิกายใหม่
วชิรญาณภิกขุเป็นเจ้าฟ้า ซึ่งต่อมาเป็นพระเจ้าแผ่นดิน และยังมีรัชทายาทสืบสันตติวงศ์ต่อมาอีก 5 รัชกาล คณะธรรมยุติกนิกายจึงเผยแผ่อิทธิพลออกไปได้แทบทั่วราชอาณาจักร ทั้งยังเข้าไปตั้งสมณวงศ์ในกัมพูชาและลาว (เพียงแค่จัมปาสัก) แล้วก็ปลาสนาการไปพร้อมกับสิ้นเจ้านายทางฝ่ายนั้น
พุทธทาสภิกขุเป็นเพียงลูกชาวบ้าน ย่อมสร้างพุทธอาณาเช่นนั้นไม่ได้ และที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็ตรงที่ท่านไม่ประสงค์จะตั้งลัทธินิกายใหม่เอาเลยด้วยซ้ำ..."
ไม่เพียงแต่การมุ่งศึกษาแก่นแท้ของพุทธศาสนาเท่านั้น หากท่านพุทธทาสยังเปิดกว้างยอมรับความคิดของลัทธิ นิกาย และศาสนาต่างอีกด้วย
"สิ่งซึ่งพุทธทาสภิกขุสถาปนาขึ้นนั้น สำคัญยิ่งกว่าลัทธินิกาย หากไปพ้นลัทธินิกาย ไม่แต่ธรรมยุตกับมหานิกาย หากนำเอาหัวใจของมหายานและวัชรยาน มาประยุกต์เข้ากับพระธรรมวินัยอย่างแยบคาย
ภาพภวจักรอันเป็นหัวใจของการอธิบายของฝ่ายวัชรยานในเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดตามสังสารวัฏจนเข้าถึงพระนิพพานนั้น มีปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกที่สวนโมกข์นี้เอง
แล้วยังจะมีใครกล่าวหาได้อีกละหรือว่าพุทธทาสภิกขุไม่เชื่อในเรื่องตายแล้วเกิด
ยิ่งทางฝ่ายมหายานด้วยแล้ว ใช่แต่พุทธทาสจะแปลถ้อยคำของท่านฉัฏฐมสังฆปริณายกของจีนออกเป็นไทยเท่านั้น
หากท่านยังยกย่องนักปฏิบัติธรรมชาวอเมริกัน ที่เน้นทางด้านซาเซน จนท่านเอารูปที่ท่านผู้นี้เขียน และถ้อยคำของเขา มาตราลงไว้ในโรงมหรสพทางวิญญาณอีกด้วย
ในทางเถรวาทเองนั้น สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) วัดเทพศิรินทร์ ซึ่งเป็นสดมภ์หลักของคณะธรรมยุติกนิกาย ได้ยกย่องพุทธทาสภิกขุเป็นอย่างยิ่ง..."