เอเน็ต-โอเน็ตจากคนใน จาก
http://www.blognone.com/node/2245Submitted by deans4j on 2 May, 2006 - 06:30. Tags: Special Report
คะแนนโอเน็ต-เอเน็ตประกาศรอบสามแล้วครับเมื่อวานนี้ และแล้วก็ไม่พ้นการถูกเด็กด่าเหมือนเคย เบื่อข่าวโอเน็ต-เอเน็ตบ้างไหมครับ? รู้สึกไหมว่าทำไมระบบมันช่างวุ่นวาย และดูมั่วซั่วอย่างนี้ นั่นแหละครับคำถามแรกที่เกิดขึ้นกับผมและทำให้ผมได้เข้ามายุ่งกับงานๆ นี้ด้วยตัวเอง พอกระโดดลงมาทำแล้วก็ไม่รู้เหมือนกันว่ามันเรียกว่าโชคดีหรือโชคร้ายกันแน่...
ใครไปงาน Blognone Tech day ที่ผ่านมาคงได้ฟังผมเล่าปัญหาหนึ่งในร้อยแปดพันเก้าที่ได้เจอ เล่าย้อนให้ฟังนิด ส่วนที่ผมได้ลงไปยุ่งจนต้องหยุดงานทุกอย่างที่ทำอยู่ทั้งหมด นั้นเกี่ยวข้องกับการตรวจสอบการตรวจข้อสอบปรนัยของทุกวิชาโดยภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์จากจุฬาฯ ที่ผมเป็นนิสิต ป.โทอยู่
การตรวจสอบไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันได้ง่ายเลย เมื่อโจทย์คือให้ทำสิ่งๆ เดียวกับที่สทศ. ทำ โดยเค้าใช้เวลาทำและเตรียมตัวเป็นเดือนๆ (แถมผลลัพธ์ยังออกมาได้เท่านี้) แต่เรามีเวลาที่จะเนรมิตงานนี้ โดยเกือบทั้งหมดเริ่มจากศูนย์ให้แล้วเสร็จภายในไม่กี่สิบวัน และผลลัพธ์ต้องออกมาดีกว่า
เล่าขั้นตอนการทำงานคร่าวๆ ให้ฟังนะครับ ในตอนแรก สทศ. ใช้หลักการ OCR ในการตรวจกระดาษคำตอบทั้งปรนัยและอัตนัยแทบทุกวิชา ยกเว้นข้อสอบอัตนัยวิชาภาษาอังกฤษวิชาเดียว เพราะฉะนั้นกระดาษคำตอบและเอกสารที่เกี่ยวข้องจำนวนมากกว่า 5 ล้านหน้าจะต้องแปลงเป็นข้อมูลรูปภาพดิจิตัลก่อนที่จะนำไปเข้าขั้นตอน OCR ต่อไป
ที่นี่เนื่องจากปัญหาต่างๆ มันแทรกซึมอยู่กับทุกๆ ขั้นตอนการทำงานของระบบ เมื่อกระบวนการตรวจสอบข้อมูลที่เข้าออกในแต่ละขั้นทำได้ไม่ดีพอ เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนแรกสุดนั่นคือการสมัครสอบ ปัญหาที่พบคือ ระบบไม่สามารถที่จะยืนยันได้ว่าข้อมูลที่ผู้สมัครกรอกนั้นถูกต้องเพียงใด ทำให้เลขที่บัตรประชาชนไม่สามารถนำมาใช้เป็นคีย์หลักในการเข้าถึงข้อมูลของแต่ละคนได้
ขั้นตอนการจัดเตรียมห้องสอบ และการประชาสัมพันธ์ให้ทั้งผู้สมัครและคนคุมข้อสอบเข้าใจระบบนั้นก็ล้มเหลวจนเกิดปัญหาวุ่นวาย เด็กหาห้องสอบไม่เจอ เพราะระบบแจ้งเปลี่ยนศูนย์สอบล่วงหน้าก่อนสอบแค่วันเดียว ทำให้คนคุมสอบต้องแก้ปัญหาด้วยการเปิดห้องสอบพิเศษ และด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการ ก็เลยนำกระดาษคำตอบของเด็กที่โชคร้ายไปถ่ายเอกสารและแจกจ่ายให้กับห้องพิเศษได้ใช้กัน แต่ความเป็นจริงแล้วในกระดาษคำตอบแต่ละใบจะต้องมีเลขที่นั่งสอบที่ไมจะซ้ำกันของแต่ละคนพิมพ์กำกับไว้อยู่ คราวนี้คีย์ที่ควรจะเป็นเอกลักษณ์ก็ผิดเพี้ยนจากเดิม เกิดปัญหาถ้าคุณไปค้นข้อมูลจากเลขที่นั่งสอบ บางทีอาจได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นเด็กทั้งห้องเลยก็เป็นได้
วิธีการจัดเก็บกระดาษคำตอบทั้งหมดนั้น ผมไม่รู้ว่า เค้าจัดเก็บกันยังไง แต่เมื่อสองวันที่แล้ว และตลอดมา (และคงมีมาอีก) ยังเจอกระดาษคำตอบบางชุดที่ไปหลงอยู่ยังไม่ได้สแกนเป็นรูปภาพเลยด้วยซ้ำ ณ วันนี้ถ้าคุณไปถามเค้าว่า ตกลงมีเด็กเข้าสอบในแต่ละวิชาทั้งหมดกี่คน รับรองเค้าตอบเป็นตัวเลขที่แน่ชัดไม่ได้แน่
พูดถึงการทำงานของฝั่งที่ผมมีส่วนรับผิดชอบสักนิดนึง เนื่องจากด้วยเวลาที่จำกัดและนโยบายทางด้านความมั่นคงของกระดาษคำตอบ ทำให้การตรวจสอบต้องเริ่มจากรูปภาพดิจิตัลที่ สทศ. สแกนมาให้แล้วเท่านั้น ซึ่งก็ตอบไม่ได้ว่าเราตกหล่นกระดาษคำตอบที่ยังไม่ได้ตรวจสอบกี่ใบ ผมเองพอจะเห็นเค้าโครงร่างของผลลัพธ์ครั้งนี้ตั้งแต่ประมาณอาทิตย์แล้วว่าไม่น่าจะเสร็จทันภายในวันที่ 30 ที่ผ่านมา แต่ด้วยความที่คนที่มีหน้าที่พูดก็พูดไป ส่วนคนมีหน้าที่ทำก็ต้องทำไป ก็ต้องยอมรับการตัดสินใจของผู้ใหญ่ หลังๆ ผมเองก็ยอมรับว่าการ QC ขั้นตอนหลังๆ ของเราเองก็เริ่มมีปัญหาแล้วเหมือนกัน ผมกลัวเหลือเกินว่าแผนกตรวจสอบจะกลายเป็นสทศ. 2 ซะเอง
มาวันนี้ก็เป็นไปตามคาด เสียงด่าวิจารณ์ก็ด่าไล่หลังกันมา และคงจะมีมาอีกเรื่อยๆ ยิ่งทำงานนี้ไปยิ่งทำให้ผมนึกถึงหายนะที่เชอร์น่าบิลขึ้นมาจับใจซะจริงๆ
เรื่องนี้มันคงยังไม่ยอมจบลงง่ายๆ แค่นี้แน่ ...
ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากความดันทุรังดันระบบให้เกิดทั้งที่มันยังไม่พร้อมที่จะใช้งานได้จริง ทุกวันนี้การแก้ปัญหาเป็นการทำงานแบบแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นทั้งนั้น การทำ Testing ที่นี่แทบไม่มีอะไรเป็นไปตามหลักการ Software Engineer เลย
ระบบถูกติดตั้งทั้งๆ ที่ไม่เคยประเมินความเสี่ยงที่อาจจะเกิด การจำลองระบบไม่มี alpha, beta testing ไม่มี การประชาสัมพันธ์เข้าถึงขั้นแย่ การเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้งทำให้ระบบขาดความน่าเชื่อถือ ผู้ใช้กลายเป็น debugger ไปแล้วซะงั้น
เวลาคนเราทำดี ข่าวไม่ค่อยออกหรอกครับ แต่พอทำพลาดสื่อนี่เตรียมซ้ำเติมจนเรื่องมันดูแย่ลงกว่าเดิมหลายเท่านัก ปัญหาส่วนหนึ่งที่เกิดจากการประกาศคะแนนครั้งที่สามนี้ ผมไม่แน่ใจว่าผู้ใหญ่เค้าคิดอะไรอยู่เหมือนกันถึงเร่งออกให้ทันตามกำหนด งานเร่งจนแทบไม่มีเวลาทำ Testing ที่ดีพอ เรียกว่าจะประกาศพรุ่งนี้ คืนนี้ยังปั่นตรวจอยู่เลยทั้งที่ควรจะเป็นช่วงเวลาของการทดสอบได้แล้ว ถ้าดูข่าววันนี้จะเจอกรณีเด็กคะแนนเต็ม 100 ได้ 560 จริงๆ แล้วปัญหานี้เกิดจากเซ็ตตัวหารผิด คะแนนที่จริงควรจะเป็น 56 ส่วนเด็กที่ไม่เคยมีปัญหาในครั้งแรกและครั้งที่สอง แต่กลับมีปัญหาในครั้งนี้ ผมเข้าใจว่าเป็นเด็กที่ทางสทศ. ไม่ได้ส่งรูปภาพดิจิตัลของกระดาษคำตอบมาให้ ทำให้ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเด็กคนนี้ควรได้คะแนนเท่าไหร่กันแน่
Submitted by deans4j on 2 May, 2006 - 14:08
ตามข่าวแล้วแปลกใจมาก ๆ บ้านเมืองนี้ผู้บริหารในบ้านเมืองนี้เขาคิดอะไรกันหนอ หรือเพราะไม่มีประสบการณ์กับระบบไอที
