จากเว็บเด็กดี (เด็กดีไม่ให้เครดิตที่มาของบทความ ตูเลยไม่ให้เครดิตเด็กดีมั่ง)
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยภาษาไทยมีการเปลี่ยนแปลงแบบไม่น่าพึงประสงค์ พร้อมพระราชทานกระแสรับสั่งทุกฝ่ายถึงการเปลี่ยนแปลงของวรรณยุกต์สูงขึ้น เรื่อย ๆ ทำให้ฟังแล้วแปลก “ป๋าเปรม” วิงวอน ให้ทุกคนตระหนักถึงกระแสรับสั่ง ออกโรงเตือนสติคนไทยทุกคนให้ภูมิใจในภาษาไทย ชี้แนะให้ดำรงและอนุรักษ์ภาษาถิ่นฐานให้ยั่งยืน รวมถึงกระตุ้นคนไทยรักหวงแหนและภูมิใจภาษาแม่ หวั่นภาษางอกทำภาษาไทยวิบัติ ด้าน “บิ๊กแอ้ด” รับเพิ่งรู้ความหมาย “แอ๊บแบ๊ว” สมาคมครูฯ แนะทุกฝ่ายช่วยปลูกฝังภาษาไทยให้เยาวชน
ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 26 ก.ค. พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมตรีและรัฐบุรุษ เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาระดับชาติ เรื่องการแก้วิกฤติภาษาไทย ซึ่งจัดการสัมมนาโดยสมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทย และกล่าวปาฐกถานำเรื่องภาษาไทยบนแผ่นดินไทยว่า การสัมมนาครั้งนี้ ถือเป็นการร่วมมือร่วมใจในการทำสิ่งที่สำคัญยิ่งเพื่อชาติบ้านเมืองของเรา และเป็นการตอบแทนบุญคุณแผ่นดินที่ยิ่งใหญ่สมควรได้รับการยกย่อง ชมเชยโดยทั่วกัน ตนไม่ใช่ผู้รู้ภาษาไทยที่แตกฉาน แต่สนใจภาษาไทยอย่างมาก ทั้งในการอ่าน พูด เขียน เพราะรักภาษาไทยที่เป็นภาษาแม่ของพวกเรา ตนถนอมและหวงแหนภาษาไทย เกรงว่าอาจจะมีผู้นำภาษาไทยไปสู่ความวิบัติ ความเข้าใจคลาดเคลื่อนเข้าใจผิด
"ผม มักจะตำหนิในใจอยู่เสมอ เมื่อมีผู้ใหญ่ที่ผมหวังว่าจะใช้ภาษาไทยที่ถูกต้องกลับใช้ผิด คนไทยทุกคนหรือแม้แต่คนที่ไม่ใช่คนไทยทราบดีว่า ภาษาไทยเป็นภาษาประจำชาติ และเรามีภาษาประจำชาติภาษาเดียวคือภาษาไทย และไม่มีปัญหาในการสื่อสารซึ่งกันและกัน ไม่เหมือนในบางประเทศที่มีภาษาสื่อสารกันมากกว่า 1 ภาษา ทำให้เป็นอุปสรรคในการสื่อสาร ในประเทศเรายังมีภาษาที่เราเรียกว่าภาษากลุ่มชาติพันธุ์ ที่เป็นการพูดกันระหว่างกลุ่ม แต่ไม่น่าจะถือว่าเป็นอุปสรรค ขอให้คนไทยทุกคนพึงภูมิใจในภาษาของเราที่เรามีภาษา พยัญชนะ สระ ตัวเลข ของเราเอง เราเป็นเจ้าของภาษาของเราเองที่พ่อขุนรามประดิษฐ์คิดค้น ขึ้นมา ทำให้คนไทยสื่อสารกันได้ และทำให้เราเป็นคนไทยเลือดเนื้อเดียวกันโดยไม่ต้องมีคำอธิบาย" พล.อ.เปรม กล่าว
พล. อ.เปรม กล่าวต่อว่า เรามีความจำเป็นที่จะต้องดำรงและอนุรักษ์ภาษาถิ่นให้มั่นคงและยั่งยืน เพราะภาษาถิ่นเป็นการแสดงออกซึ่งเอกลักษณ์ของชาวถิ่นนั้น ๆ ที่รักและหวงแหนมากเช่นเดียวกัน อย่างตนเป็นคนใต้ ซึ่งตนมีความภูมิใจในความเป็นคนใต้ มีความรักและหวงแหนภาษาใต้ รวมทั้งพยายามอนุรักษ์ภาษาใต้เอาไว้ แต่ทำได้ค่อนข้างยาก และขณะนี้คนใต้จะแหลงใต้เฉพาะสำเนียง แต่คำที่ใช้เป็นภาษากลางความจริงภาษาถิ่นใช้ในเฉพาะกลุ่มและในการละเล่นต่าง ๆ เช่น โนราห์ในภาคใต้ แต่การสอนนักเรียนในโรงเรียนจะใช้ภาษากลางหรือบางคนเรียกว่าภาษากรุงเทพฯ
ประธาน องคมนตรี กล่าวว่า ในเมื่อภาษาไทยเป็นภาษาหลัก พลเมืองไทยทุกคนจะต้องเรียนรู้ภาษาไทยให้ดีที่สุด ทั้งภาษาพูด และภาษาเขียน แต่ในขณะนี้การศึกษาภาษาไทยในทุกระดับยังไม่บรรลุผล ซึ่งอาจจะมาจากระบบการศึกษาของเราเปลี่ยนแปลงบ่อย จนจับหลักไม่ได้ หรือเกิดจากการลอกเลียนแบบจากต่างประเทศ แล้วแต่ผู้รู้จบมาจากสถาบันการศึกษาจากประเทศใด แต่สำหรับภาษาไทยตนคิดว่าลอกใครไม่ได้ จะต้องคิดปรับปรุงและพัฒนาเอง บางครั้งอาจจะต้องหวนกลับไปหาบรรพบุรุษ อย่างการสอนให้ท่องจำนั้นไม่ใช่ว่าจะไม่มีประโยชน์แต่สามารถนำมาปรับใช้ได้ โดยเฉพาะการเรียนภาษาไทย อีกสาเหตุหนึ่งคือเรามีสาขาวิชาให้เลือกมาก ทำให้เด็กเลือกสาขาที่ชอบและภาษาที่เหมาะกับการประกอบอาชีพของตัวเองเท่า นั้น จึงใช้ภาษาไทยถูกบ้างผิดบ้าง เพราะไม่ได้ทำให้การประกอบอาชีพของเขามีอุปสรรค และเด็กให้ความสำคัญกับภาษาต่างประเทศมากขึ้น
พล. อ.เปรม กล่าวต่อว่า ในความคิดส่วนตัวเห็นว่าภาษาไทยเป็นภาษาที่เรียนรู้ให้แตกฉานได้ยากมาก เพราะภาษาไทยมีความกว้างขวาง ละเอียด ลึกซึ้ง ไวยากรณ์ยาก หลายคำมาจากภาษาบาลีและสันสกฤต คำหลายคำเขียนอย่างหนึ่ง อ่านอย่างหนึ่งและบางคำเขียนอย่างเดียวกันแต่อ่านออกเสียงได้สองอย่าง หรือบางคำออกเสียงโดยใช้ไม้ไต่คู้กำกับ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงแสดงความห่วงใยที่ภาษาไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่น่าพึงประสงค์ และเคยมีพระราชกระแสรับสั่งว่าการเปลี่ยนแปลงของวรรณยุกต์สูงขึ้นเรื่อย ๆ เสียงโทกลายเป็นเสียงตรี เสียงตรีกลายเป็นเสียงจัตวา ทำให้ฟังแล้วแปลก ตนหวังว่าทุกคนจะตระหนักถึงกระแสรับสั่ง
พล. อ.เปรม กล่าวอีกว่า ผู้เชี่ยวชาญทางภาษาบอกว่าการเปลี่ยนแปลงของภาษาเป็นปรากฏการณ์ธรรมดาที่ เกิดขึ้นอยู่เสมอ แต่ควรเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่จงใจ ขณะนี้ทราบว่าราชบัณฑิตยสถานมีความคิดที่จะเก็บคำที่เกิดขึ้นใหม่ ที่อาจจะเกิดจากสื่อหนังสือพิมพ์ สื่อโทรทัศน์ เช่น "เด็กแนว" "เด็กซิ่ล" เมื่อเป็นอย่างนั้นภาษาไทยคงจะงอกขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีเป็นจำนวนมาก ตนมีความปรารถนาอย่างยิ่งที่จะเห็นคนไทยมีความรู้เหมือนตน เราทุกคนมีหน้าที่ที่จะรักษาภาษาไทยของเราให้บริสุทธิ์ สะอาด สง่างาม และปรารถนาที่จะเห็นคนไทยพูดภาษาไทยอย่างถูกต้องและชัดเจน
ด้าน พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตนเพิ่งทราบความหมายของคำว่า "แอ๊บแบ๊ว" แล้ว โดยได้ขอคำอธิบายจาก นางกาญจนา นาคสกุล นายกสมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทยแล้ว โดยคำว่า "แอ๊บแบ๊ว" มาจากคำภาษาอังกฤษว่า "abnormal" บวกกับคำว่า "บ้องแบ๊ว"
นาง กาญจนา นาคสกุล นายกสมาคม ครูภาษาไทยแห่งประเทศไทย กล่าวถึง กรณีการ นำโอวาท พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่ ได้ปาฐกถาไปสานต่อว่า ลำดับแรกจะนำคำพูด ของ พล.อ.เปรมไปถอดเทปเพื่อเผยแพร่ไปยังประชาชนทั่วไปให้ได้รับทราบว่า พล.อ.เปรมมี แนวคิดอย่างไรกับภาษาไทยและความสำคัญของการใช้ภาษาไทย ภาษาถิ่น ซึ่งศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รมว.ศึกษาฯ และคุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ รมว.วัฒนธรรมที่อยู่ในห้องประชุมสัมมนา ทั้งสองท่านจะได้รับลูกเพื่อดำเนินการต่อ อย่างน้อยด้านการจัดการศึกษาหรือการถ่ายทอดความคิดให้สังคมได้รับทราบก็คง จะได้มีการดำเนินการต่อไปได้เรื่อย และแนะทุกฝ่ายช่วยปลูกฝังภาษาไทยให้เยาวชน
สำหรับคำว่าแอ๊บแบ๊ว ตูเฉยๆ
ออกจะชื่นชมและสนใจการถือกำเนิด-การมีอยู่ของมันด้วยซ้ำ
แล้วก็ฝากอันนี้ไว้ให้ดูความเห็นของสังคมที่มั่นใจในวุฒิภาวะของตัวเองกัน
http://www.pantip.com/cafe/chalermthai/topic/A5771990/A5771990.htmlPANTIP.COM : A5771990 อึดอัดมานาน กับการจ้องจับผิดเรื่องภาษาไทย [แวดวงโฆษณา]
เห็นหลายความเห็นชักพาหลงเข้ารกเข้าพงก็คันไม้คันมืออยากพิมพ์
แต่ไม่เอาล่ะ เอามาแปะให้คนอื่นคันมั่งดีกว่า