ภาษาเอ็ม ภาษาอุบัติ?
http://www.bangkokbiznews.com/2006/08/30/w006_132771.php?news_id=132771 ภาษาเอ็ม ภาษาอุบัติ?
29 สิงหาคม 2549 17:03 น.
๐ ยุกติ มุกดาวิจิตร
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ :
"รู้มะว่าพวกผู้ใหญ่กะลังเมนท์ภาษาเอ็มกันอ่ะ :( "
"ช่าย คงจาม่ายอัพโลกเดะๆดิ แบบว่า โบมักๆง่ะ อิอิ ^-^ "
"เง้อ :p..."
บทสนทนาข้างต้นเป็นตัวอย่างง่ายๆ ของการใช้ภาษาเขียนตอบโต้กันทันทีทันใดผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตด้วยโปรแกรมประเภทเอ็มเอสเอ็น (MSN) บางคนจึงเรียกภาษาที่มักใช้กันในบทสนทนาแบบนี้ว่า 'ภาษาเอ็ม'
สำหรับหลายๆ คน คำต่างๆ ในภาษาเอ็มไม่ใช่ภาษาแปลกประหลาดอะไร และจะเป็นเรื่องตลกกับสุดเชยด้วยซ้ำ หากเรียกร้องการอธิบายความหมายของคำเหล่านี้ แต่คนส่วนใหญ่(รวมทั้งผู้เขียนเอง)ที่ 'ไม่รู้หนังสือเอ็ม' จะอ่านแทบไม่รู้เรื่อง หรือพอเข้าใจได้บ้างก็ไม่ทั้งหมด
คำว่า 'มะ' 'กะลัง' 'เมนท์' เมื่ออยู่ในบริบทของบทสนทนาข้างต้น ผู้อ่านที่ไม่รู้หนังสือเอ็มก็คงเดาได้ว่าหมายถึง หรือไม่ กำลัง ออกความเห็นวิจารณ์ ตามลำดับ แต่คำว่า 'อัพ' 'เดะๆ' 'โบ' หรือ 'มั่กๆ' คงจะไม่เป็นที่เข้าใจกันทั่วไปนักว่า นักภาษาศาสตร์เอ็มหมายถึง update (ตามทัน) เด็กๆ โบราณ และ มากๆ 'อิอิ' แทนเสียงหัวเราะแบบหยันๆ อย่างสุภาพ ส่วน 'ดิ' กับ 'ง่ะ' แทนคำลงท้ายที่ปกติมักเขียนว่า ล่ะสิ น่ะ ซึ่งใช้บ่อยเพื่อแสดงทั้งการเน้นย้ำสิ่งที่กล่าวมา การสร้างความเป็นกันเอง และการแสดงอารมณ์
ส่วนสัญลักษณ์ประเภท :( หรือ :p สื่อแทนอารมณ์ สำหรับคนใช้ e-mail จะคุ้นเคยกันดีมานานเกิน 4-5 ปีแล้ว
อันที่จริงปัจจุบันนี้ 'ชาวเอ็ม' มีเครื่องมือที่ก้าวหน้ากว่าการดัดแปลงเครื่องหมายวรรคตอนมาเป็นสัญลักษณ์แสดงความหมายเรียกกันว่า 'อีโม' ย่อจาก emotion ภาษาอีโมปัจจุบันก้าวหน้าในทางเทคนิคมาก จนคนไม่รู้หนังสือเอ็มจะไม่เข้าใจว่า ทำไมการ์ตูนรูปแมวอ้วนหูตกตาหยีๆ ถึงใช้แทนคำว่า 'เง้อ' ที่ผู้รู้ภาษาเอ็มแปลกันประมาณว่า "หน่ายจนต้องร้องเฮ้อ! ระคนงงๆ" เป็นต้น
หลายคนวิจารณ์กันว่า ภาษาลักษณะนี้เป็นภาษาของพวก 'เด็กติดเน็ต' ที่นั่ง chat (คุยจ้อ) กับเพื่อนผ่านจอคอมพิวเตอร์ด้วยการพิมพ์ทั้งวันทั้งคืน ร้ายกว่านั้น ภาษาลักษณะนี้ถูกตราหน้าว่าเป็น 'ภาษาวิบัติ' ของเด็กเล่นเน็ต เป็นภัยทำลายภาษาไทยอันงดงาม เป็นที่น่าเกรงกลัวว่าการใช้ภาษาเพี้ยนๆ นี้จะระบาดเข้ามาในภาษาเขียนปกติ
แต่สำหรับบางคนที่คอย 'อภิบาลเด็กแนว' (คำลงท้ายจดหมายแบบแนวๆ ของ อ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์) อาจเห็นว่านี่เป็นภาษาในโลกของวัยรุ่นที่ต้องการสร้างตัวตนเฉพาะกลุ่ม หรือที่เรียกแบบภาษาวิชาการ (ซึ่งยิ่งทำให้ไม่รู้เรื่องกว่าภาษาเอ็มเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่า) ว่าเป็นการสร้างอัตลักษณ์ (identity) หรือเป็นวัฒนธรรมย่อย (sub-culture) ของวัยรุ่นเล่นเน็ต เป็นวัฒนธรรมต่อต้านวัฒนธรรมหลัก
แต่ความจริงคนติดเน็ตไม่ได้มีแต่เด็กๆ คนใช้ภาษาเอ็มจึงไม่ได้จำกัดเฉพาะวัยรุ่น หากแต่การใช้ภาษาเอ็มเป็นปรากฏการณ์ภาษาศาสตร์เชิงสังคมที่เกิดขึ้นทั่วไปในยุคของการสื่อสารที่มีทางเลือกใหม่ๆ มากมายอย่างในปัจจุบัน ภาษาเอ็มเป็นอุบัติการณ์ของวัฒนธรรม (emergent culture) ทางภาษาที่มีลักษณะเฉพาะตัว แต่ขณะเดียวกันก็มีลักษณะร่วมกับการสื่อสารที่มีอยู่แล้วหลายประการ
ผู้เขียนรู้จักคนคนหนึ่ง เป็นชาวเอ็มประเภทคนในที่ไม่ใช่วัยรุ่นอย่างแน่นอน ซ้ำท่านยังเป็นอาจารย์ทางอักษรศาสตร์สอนอยู่ ณ มหาวิทยาลัยเก่าแก่แห่งหนึ่งมานานหลายปี ท่านใช้ภาษาเอ็มชนิดที่เรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของภาษาที่ใช้ในชีวิตประจำวันอีกภาษาหนึ่ง เพราะท่าน 'เอ็ม' กับเพื่อนที่อยู่ในประเทศและที่อยู่ต่างแดนต่างเวลาเป็นประจำ จึงช่ำชองการใช้ภาษาเอ็มอย่างดี
ท่านผู้อ่านไม่ต้องเป็นห่วงลูกหลานของท่านหรอกครับ เพราะนอกจากภาษาอังกฤษและภาษาเขมรแล้ว อาจารย์ท่านนี้ X วชาญและชื่นชมภาษาและวรรณคดีไทยอย่างลึกซึ้ง อีกทั้งยังเป็นคนหนึ่งที่ถอดแบบเสียง 'ร เรือ' ตามแบบสำนักอักษรศาสตร์ใจกลางกรุงเทพฯ ได้อย่างไพเราะที่สุดคนหนึ่ง แต่ท่านก็ไม่ตั้งตนเป็นตำรวจทางภาษาโจมตีการใช้ภาษาเอ็ม หรือ...ทุรังป่าวร้องให้เพื่อนๆ ท่านใช้มรดกที่รุ่มรวยของวรรณคดีไทยในการเอ็ม
คนใช้ภาษาเอ็มจึงไม่ใช่เด็กติดเน็ตเท่านั้น (ที่จริงผู้เขียนยังรู้จักอาจารย์ทางอักษรศาสตร์อีกหลายๆ ท่านที่เป็นชาวเอ็มตัวยง) แต่เป็นคนที่ต้องการภาษาอีกลักษณะหนึ่งเพื่อการสื่อสารในช่องทางแบบใหม่ และหากมองอย่างเปิดใจให้กว้าง ภาษาเอ็มก็ไม่ได้แตกต่างอะไรกับการใช้ภาษาลักษณะต่างๆ หากแต่ภาษาเอ็มก็มีลักษณะเฉพาะตัวหลายๆ อย่าง
ประการแรก หากเข้าใจว่าภาษาเอ็มเป็นภาษาของคนกลุ่มหนึ่ง ที่ใช้ภาษาลักษณะนี้ในการสื่อสารรูปแบบหนึ่ง ภาษาเอ็มก็ไม่ใช่ภาษาที่วิบัติตรงไหน ตราบใดที่ผู้คนทั่วไปไม่ได้พูดเสมือนกำลังแสดงปาฐกถาต่อหน้าประชาชนนับพันในห้องประชุมทางที่กำลังจะถกปัญหาเศรษฐกิจโลกกันอย่างเคร่งเครียดอยู่ตลอดเวลา ภาษาเอ็มก็มีที่ทางจำกัดของตนเอง อยู่ในโลกของการเอ็ม ซึ่งไม่แม้แต่จะออกมาก้าวก่ายในโลกของการสนทนาระหว่างเพื่อนฝูงด้วยภาษาปากในชีวิตประจำวัน
ดังนั้น เมื่อเป็นภาษาพูดแบบหนึ่ง ก็หมายความว่าการเอ็มเป็นการสื่อสารกันในขอบเขตหรือบริบททางสังคมที่จำกัด ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเป็นการสื่อสารระหว่างเพื่อนฝูง (ไม่น่าจะมีใครใช้การเอ็มประชุมกัน) จึงเป็นธรรมดาที่ชาวเอ็มจะมีภาษาของตนเองที่เรียกกันว่าแสลง (slang) ซึ่งไม่ต่างจากบรรดาคำศัพท์พิลึกพิลั่น (jargon) ของพวกนักวิชาการ
ประการต่อมา หากเราไม่สั่งอาหารในร้านข้าวแกงด้วยภาษาเขียนฉันใด ถึงแม้ชาวเอ็มจะเขียน(พิมพ์)โต้ตอบกัน ชาวเอ็มก็ไม่เอ็มกันด้วยภาษาเขียนฉันนั้น แต่แทนที่จะใช้ภาษาเขียน ชาวเอ็มใช้ภาษาพูด หรือเขียนเป็นภาษาพูด การเอ็มจึงเป็นการพูดด้วยอักษร หรือเป็นการใช้อักษรเลียนภาษาพูดอย่างแทบจะตรงไปตรงมา เป็นวัฒนธรรมมุขปาฐะที่แสดงออกในรูปอักขระ
การพูดด้วยการเขียนลักษณะนี้เป็นลักษณะสากลอย่างหนึ่งของการเอ็ม เช่น ในเวียดนาม ชาวเอ็มเวียดนามเอ็มกันด้วยภาษาที่เขียนด้วยอักขระแบบอักษรโรมันเขียนทับเสียงภาษาเวียด หากแต่เพราะอักษรเวียดนามปัจจุบันแม้จะคล้ายอักษรภาษาอังกฤษก็ยังมีความยุ่งยากที่ต้องใส่เครื่องหมายต่างๆ (diacritics) กำกับให้เป็นสระหรือวรรณยุกต์ ชาวเอ็มเวียดนามจึงตัดเครื่องหมายเหล่านั้นออก เพื่อความคล่องแคล่วในการเอ็มให้เสมือนกำลังพูดอยู่
ที่น่าสนใจอย่างยิ่งอีกประการหนึ่งคือ ชาวเอ็มประดิษฐ์ภาษาสัญลักษณ์ที่พ้นข้อจำกัดของการสื่อสารด้วยอักขระ มีทั้งการแปลงเครื่องหมายวรรคตอนให้เป็นสัญญะแทนความหมายแบบเกือบตรงไปตรงมา (icon) และด้วยเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ อักษรจะแปลงเป็น icon ทันทีทันใดที่พิมพ์คำบางคำที่ถูกตั้งค่าให้แทนที่ด้วยรูปภาพไว้
เช่นเมื่อพิมพ์คำว่า "ตายล่ะ" จะปรากฏรูปแมวสีสวาทล้มทั้งยืนอยู่ถัดจากคำว่า ล่ะ ภาษาเอ็มจึงมีเครื่องมือการสื่อสารแบบใหม่ที่รวมเอาทั้งภาษาเขียนแทนเสียง ภาษาพูด และภาษาภาพ
หากมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์การเขียนของไทย การเอ็มก็มีลักษณะดุจเดียวกับการใช้อักษรขอมเขียนคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ที่ออกเสียงเป็นภาษาไทย ไม่ต่างจากการที่เวียดนามสมัยโบราณใช้ภาษาจีนเมื่อสื่อสารกันเรื่องกิจการบ้านเมือง หรือการที่ชาวยุโรปใช้ภาษากรีกและละตินเขียนตำราทางศาสนา ทั้งนี้เพราะภาษาต่างๆ มีความหมายทางสังคมและตอบสนองความต้องการทางสังคมที่แตกต่างกันออกไป
ภาษาเอ็มที่เด็กๆ และผู้ใหญ่ชาวเอ็มใช้กันในโลกการเอ็มจึงไม่ได้วิบัติแต่อย่างใด หากแต่เป็นภาษาที่อุบัติขึ้นมาใหม่เพื่อสนองการสื่อสารอีกลักษณะหนึ่ง
ภาษาเอ็มจึงไม่ได้ทำลายภาษาไทยหรือภาษาใดๆ แต่กลับเพิ่มพูนความรุ่มรวยให้กับการใช้ภาษา เป็นความจำเริญงอกงามตามธรรมชาติของภาษา 
คิดไงกันเหรอคะ?