หน้า: [1]
 
ผู้เขียน หัวข้อ: ขอเชิญชวนเผยแพร่ฟอนต์โดยใช้ OFL  (อ่าน 8755 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 ขาจร กำลังดูหัวข้อนี้
สวัสดีครับ สำหรับใครที่กำลังวางแผนจะเผยแพร่ฟอนต์เสรี (หรือเผยแพร่ไปแล้วและสนใจจะเปลี่ยน license ก็ตาม) ผมขอเสนอ Open Font License (OFL) เป็นสัญญาอนุญาตครับ

OFL คืออะไร?
Open Font License (OFL) เป็นสัญญาอนุญาตที่เขียนขึ้นมาสำหรับซอฟต์แวร์ฟอนต์เสรี โดยมีจุดมุ่งหมายคือการสนับสนุนการพัฒนา ใช้ และปรับปรุงซอฟต์แวร์ฟอนต์ในวงกว้าง

OFL ถูกเขียนขึ้นโดยสถาบันภาษาศาสตร์สากลซัมเมอร์เมื่อปี 2007 และในปัจจุบันถ้าเราลองเข้า fonts.google.com ซึ่งเป็นโครงการเผยแพร่ฟอนต์เสรีของ Google เราจะพบว่าซอฟต์แวร์ฟอนต์แทบทั้งหมดนั้นเผยแพร่ภายใต้สัญญาอนุญาต OFL ฉบับนี้

OFL มีรายละเอียดอย่างไรบ้าง?
ต้นฉบับของสัญญาอนุญาตฉบับนี้เป็นภาษาอังกฤษสามารถดูได้ที่ scripts.sil.org/cms/scripts/page.php?item_id=OFL_web

โดยสรุปแล้ว OFL อนุญาตให้ผู้ที่ได้รับซอฟต์แวร์ฟอนต์สามารถใช้ ศึกษา และเผยแพร่ไฟล์ฟอนต์ต่อได้อย่างอิสระโดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยแน่นอนว่ามีการเขียนป้องกันการนำไฟล์ฟอนต์เสรีไปขายโดยตรง แต่ไม่เป็นการปิดโอกาสในการใช้งานเชิงพาณิชย์

พูดง่าย ๆ คือใครก็ตามสามารถใช้งานฟอนต์ที่แผยแพร่ภายใต้สัญญาอนุญาต OFL ได้ฟรี ไม่ว่าจะใช้งานส่วนตัว ใช้งานเชิงพาณิชย์ หรืองานใด ๆ ทั้งที่ก่อให้เกิดรายได้หรือไม่ก็ตาม

นอกจากนี้ OFL ยังอนุญาตให้ผู้ที่ได้รับไฟล์ฟอนต์สามารถศึกษา แก้ไข ดัดแปลง และพัฒนาฟอนต์ต่อยอดได้อย่างอิสระภายใต้ข้อกำหนดว่าฟอนต์ที่ถูกดัดแปลงขึ้นจะต้องเผยแพร่ภายใต้สัญญาอนุญาต OFL เช่นกัน

OFL มีข้อดีอย่างไร?
นอกจากข้อดีที่กล่าวไปแล้วด้านบน OFL มีข้อดีอีกข้อคือการสร้างมาตรฐานที่ชัดเจนทั้งกับผู้เผยแพร่และผู้ใช้งานทั่วโลก

ลองจินตนาการว่าเราเป็นผู้เผยแพร่ฟอนต์ คงจะไม่ใช่เรื่องดีแน่ถ้าหากคำถามส่วนใหญ่จากผู้ใช้เป็นคำถามเกี่ยวกับสัญญาอนุญาตแทนที่จะเป็นข้อเสนอแนะ หรือการแจ้งปัญหาการใช้งานต่าง ๆ

และในมุมของผู้ใช้ การใช้ OFL ทำให้ผู้ใช้สามารถตัดสินใจใช้งานฟอนต์ได้ง่ายขึ้น เพราะ OFL มีเนื้อความเหมือนกันทั่วโลก
ไม่ว่าจะเป็นฟอนต์ภาษาใด ถ้าหากผู้ใช้งานเจอสัญญาอนุญาต OFL และเคยศึกษาเนื้อหามาแล้ว ผู้ใช้สามารถตัดสินใจได้ทันทีว่าเขามีสิทธิ์ที่จะใช้งานแบบไหนได้บ้าง

อยากเผยแพร่ฟอนต์โดยใช้ OFL ต้องทำอย่างไรบ้าง?
วิธีการเผยแพร่ฟอนต์ภายใต้ OFL มีเพียงไม่กี่ขั้นตอนคือ
1. ดาวน์โหลด OFL.txt จากนั้นแก้ไขบรรทัดบนสุดเป็นชื่อของคุณเอง (เช่น Copyright 2022 <ชื่อ-นามสกุล>) และแนบไฟล์ OFL.txt คู่กับไฟล์ฟอนต์ที่จะทำการเผยแพร่
2. ตั้งค่าข้อความในไฟล์ฟอนต์ (ก่อนที่จะ export จากโปรแกรม) ว่าฟอนต์นี้เผยแพร่ภายใต้ OFL เช่น This Font Software is licensed under the SIL Open Font License, Version 1.1. This license is available with a FAQ at: http://scripts.sil.org/OFL และใส่ License URL เป็น http://scripts.sil.org/OFL


สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมและคำถามที่พบบ่อยของ OFL สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ scripts.sil.org/cms/scripts/page.php?item_id=OFL_web หรือสามารถโพสต์ถามในกระทู้นี้ได้เช่นกันครับ

ขอขอบคุณผู้สร้างสรรค์ทุกท่านครับ :)
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 21 เม.ย. 2022, 00:04 น. โดย BKK » บันทึกการเข้า
[โพสต์นี้เว้นไว้เขียนเกี่ยวกับกรณีศึกษาต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับ OFL]

นอกจากนี้ ข้อดีอีกหนึ่งอย่างของ OFL คือการสนับสนุนการพัฒนาต่อยอดของฟอนต์ครับ

อย่างที่เราทราบกันดีว่าฟอนต์เป็นซอฟต์แวร์ และซอฟต์แวร์ก็ต้องการการพัฒนาอยู่ตลอด ข้อดีของ OFL คืออนุญาตให้ใครก็ตามสามารถนำฟอนต์ไปพัฒนาต่อยอดได้ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพเช่นเมื่อไม่นานมานี้มีการพูดถึงขนาด metric ของฟอนต์ไทยว่าควรเข้ากันได้กับฟอนต์ละตินอื่น ๆ ถ้าหากฟอนต์ของเราเผยแพร่ภายใต้ OFL ถึงแม้เราจะไม่ได้มีเวลามาแก้ไขแล้ว แต่การเผยแพร่ฟอนต์ภายใต้ OFL จะเป็นการเปิดทางให้ฟอนต์ของเราถูกปรับปรุงต่อได้ครับ

ทั้งนี้ขอเน้นย้ำอีกรอบคือ ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ผู้สร้างสรรค์จะยังได้เครดิตในฐานะเจ้าของลิขสิทธิ์ถึงแม้ว่าจะมีการแก้ไขปรับปรุงโดยคนอื่นก็ตาม เพราะยังไงฟอนต์ที่แก้ไขปรับปรุงแล้วก็จะเป็น OFL ที่มีชื่อผู้สร้างสรรค์ต้นฉบับเหมือนเดิมครับ



หรืออีกหนึ่งตัวอย่างคือฟอนต์ Pattaya ที่คัดสรรดีมากนำฟอนต์ Lobster มาปรับปรุงและเพิ่มภาษาไทยเข้าไปครับ

กรณีนี้เป็นตัวอย่างของการพัฒนาต่อยอด โดยที่ผู้สร้างสรรค์คนแรกก็จะยังได้เครดิต แถมฟอนต์ก็จะถูกใช้งานแพร่หลายมากยิ่งขึ้นด้วยครับ

github.com/cadsondemak/pattaya/blob/master/OFL.txt
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 17 เม.ย. 2022, 01:49 น. โดย BKK » บันทึกการเข้า
ที่มาของกระทู้นี้เดิมคือเรื่องของสัญญาอนุญาตกลางของเว็บที่มีบางประเด็นที่ขัดกับการใช้งานในยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป

แต่ก่อนเรามีการใช้งานฟอนต์ผ่านทาง desktop เพียงอย่างเดียว แต่ในปัจจุบันฟอนต์ได้กลายเป็นส่วนสำคัญของเว็บ แอพมือถือ และ embedded application ต่างๆ ดังนั้นผมเห็นว่าเราจึงควรพิจารณาใช้งานสัญญาอนุญาต OFL ที่เปิดกว้างให้ใช้งานในกรณีต่าง ๆ มากขึ้นครับ

ส่วนด้านล่างนี้คือเนื้อหาต้นฉบับเดิมของโพสต์
แอบอ้าง
เรื่องของเรื่องคือสัญญาอนุญาตกลางของเว็บมีสองประเด็นที่ติดขัดกับการใช้งานเป็น web font
แอบอ้าง
1. ฉันจะก็อปปี้ตัวไฟล์ฟอนต์จาก ฟอนต์.คอม ไปปล่อยให้ดาวน์โหลดที่อื่นได้ไหม
ไม่ได้จ้ะ แต่ถ้าเป็นรายละเอียดฟอนต์ รูปภาพ สามารถทำได้ แต่ต้องทำลิงก์กลับมายังหน้าดาวน์โหลดฟอนต์นั้นๆ

2. ถ้าไม่ให้ขาย แล้วฉันจะนำ “ไฟล์ฟอนต์” ไปดัดแปลงเพื่อใช้งานเองได้ไหม
ถ้าเพื่อใช้งานส่วนตัว ได้ครับได้ แต่ถ้าจะดัดแปลงเพื่อนำไปแจกจ่ายต่อ จำเป็นต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของฟอนต์

ลักษณะการใช้งานของ web font ถ้าว่ากันตามตรงคือหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะ "ปล่อยให้ดาวน์โหลดที่อื่น" และ "ดัดแปลงเพื่อนำไปแจกจ่ายต่อ" เพราะในทางเทคนิค web font คือการให้ user มาดาวน์โหลดไฟล์ฟอนต์จากเครื่อง server ซึ่งนับเป็นการ "ปล่อยให้ดาวน์โหลดที่อื่น" และขั้นตอนของการเตรียมไฟล์นั้นโดยปกติก็หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะ "ดัดแปลงเพื่อนำไปแจกจ่ายต่อ" เพราะ web font ต้องมีการเตรียมไฟล์ฟอนต์เป็นรูปแบบอื่น ๆ เช่น eot woff หรือ woff2 ซึ่งนับเป็นการ "ดัดแปลงเพื่อนำไปแจกจ่ายต่อ"

ผมเข้าใจเจตนาของผู้ที่เผยแพร่ฟอนต์เสรีว่าคงไม่ติดขัดอะไรกับการใช้งานในลักษณะ web font อยู่แล้ว (เพราะคงไม่ได้ต่างอะไรกับการใช้งานบน desktop) และคงดีใจที่ได้เห็นฟอนต์ที่ตัวเองสร้างถูกใช้งาน แต่ปัญหาคือผู้ใช้งานก็คงไม่สบายใจเช่นกันถ้าต้องใช้งานขัดกับสัญญาอนุญาตถึงแม้จะไม่ได้ผิดเจตนาของผู้สร้างสรรค์ก็ตาม

ดังนั้นสำหรับฟอนต์เสรี ผมขอเสนอ Open Font License ซึ่งไม่ติดขัดกับประเด็นที่ว่ามานี้ครับ OFL อนุญาตให้ผู้ใช้ฟอนต์สามารถใช้งานได้ฟรีเหมือนเดิม ห้ามนำไฟล์ฟอนต์ไปขายเหมือนเดิม และผู้สร้างสรรค์ก็ยังได้เครดิตในฐานะเจ้าของลิขสิทธิ์เหมือนเดิมครับ :)
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 21 เม.ย. 2022, 00:05 น. โดย BKK » บันทึกการเข้า
เจ๋ง เห็นด้วยและสนับสนุนแนวทางนี้ครับ

สำหรับสัญญาอนุญาตกลางของเว็บฟอนต์.คอมนั้น เกิดขึ้นมาเกือบ 20 ปีแล้วครับ
ตั้งแต่ web font ยังไม่มีเลย ฮ่าๆ ฮือๆ ตอนนี้นิยามของการนำไปใช้ โดยเฉพาะเอาไป embed ลงในที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเว็บหรือแอป
ถ้าปรับตรงนี้ได้ก็จะดีมาก แต่ฟอนต์ที่เผยแพร่ไปแล้วก็จะไม่ได้เข้าข่ายเงื่อนไขนี้ ยกเว้นเจ้าของฟอนต์จะแก้ไขสัญญาครับ

ดูเป็นเรื่องยุ่งๆ เกี่ยวกับกฎหมายและวัฒนธรรมซอฟต์แวร์เสรี
แต่ถ้าเข้าใจแนวคิดของมันก็จะต่อยอดงานของเราและเพื่อนๆ ทั้งนักออกแบบ และผู้นำไปใช้งานได้อีกเยอะเลย

เบื้องต้นเดี๋ยวผมจะเพิ่มข้อความนี้ไว้ในหน้าจองคิวนะครับว่าให้เลือก OFL ได้เป็นอีกแนวทาง
บันทึกการเข้า

ทำมาหากินด้วยการเปิดร้านสกรีนเสื้อยืด จ้ะ
ทีนี้พอจะมีข้อมูลไหมครับว่า OFL มีเวอร์ชันภาษาไทยหรือเปล่า
เพราะทุกวันนี้ก็จะมีคนถามมาตลอดครับเกี่ยวกับข้อตกลงในการนำไปใช้
ถ้าไม่มีการกำหนดเป็นอื่นๆ ผมก็จะโยนไปที่หน้าสัญญาอนุญาต ที่เขียนเป็นภาษาไทยที่ค่อนข้างอ่านเข้าใจง่ายหน่อย
แต่ของ OFL อาจจะยังไม่มีแปลแบบเฟรนด์ลี่นักเนอะ

บันทึกการเข้า

ทำมาหากินด้วยการเปิดร้านสกรีนเสื้อยืด จ้ะ
ขอบคุณมากครับ

เรื่องเวอร์ชั่นภาษาไทย ผมเข้าใจว่าพวกสัญญาอนุญาตปกติจะไม่มีการแปลเป็นหลายภาษาเพื่อป้องกันการตีความได้หลายแบบครับ

สำหรับ OFL จากหน้านี้ หัวข้อ Translation ระบุว่าเราสามารถแปลเองได้ แต่จะต้องใส่คำเตือนว่าฉบับที่แปลนี้จะไม่มีผลบังคับใช้

ความเห็นผมคือเราควรใช้ตัวต้นฉบับไปเลยครับ เหตุผลคือเพื่อลดการตีความผิดอย่างที่ว่ามา และอีกข้อนึงคือความเป็นสากลเพื่อที่ชาวต่างชาติจะได้เลือกใช้ฟอนต์เราได้ง่ายขึ้นครับ

ส่วนเรื่องการสื่อสารกับคนไทย ผมคิดว่าถ้าเราสรุปตัวเนื้อความออกมาสั้น ๆ เหมือนกับที่ Github ทำคงจะไม่ติดปัญหาอะไรครับ


ปล. ไหน ๆ กระทู้นี้ก็ถูกปักหมุดแล้ว ถ้ามีเวลาผมจะมาแก้ตัวเนื้อหาใหม่ เพิ่มข้อมูลเกี่ยวกับ OFL ให้มากขึ้น + แปล FAQ สำหรับกรณีที่น่าสนใจ ส่วนเรื่อง web font อาจจะย้ายไปไว้ตอนท้ายครับ ขอดูเวลาว่างก่อนนะครับ :)

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 17 เม.ย. 2022, 02:01 น. โดย BKK » บันทึกการเข้า
 กรี๊ดดดดด กรี๊ดดดดด กรี๊ดดดดด กรี๊ดดดดด แจ๋ววววครับ
บันทึกการเข้า

ทำมาหากินด้วยการเปิดร้านสกรีนเสื้อยืด จ้ะ
หน้า: [1]
 
 
Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006-2007, Simple Machines | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!