เห็นคำว่า "ไทม์" แล้วอดไม่ได้ ก๊าก
(แต่ไม่เคยได้อ่านเล่มนั้นหรอกค่ะ ไม่เคยเห็น)
เรื่องเข้าซุปเปอร์แล้วเดินทุกซอยนั่น เราว่ามันแล้วแต่ลักษณะของคนด้วย แล้วก็ "เวลา" ที่เขามี
เพราะตอนไปอยู่วอชิงตันดีซี หรือไปอยู่ฮาวาย และแม้แต่ตอนไปเที่ยวญี่ปุ่น ทั้งคนท้องถิ่นอย่างฝรั่งอเมริกัน คนญี่ปุ่น หรือนักท่องเที่ยวชาติอื่นที่ไม่ใช่ไทย ก็มีคนเดินเอ้อระเหยทุกซอยเหมือนกันค่ะ (เพิ่มเติมค่ะ - ในทางกลับกัน คนไทยที่เข้าซุปเปอร์ที่ไทย ก็มีคนที่รีบ ๆ เร่ง ๆ ซื้อ ๆ ให้เสร็จแล้วรีบกลับเช่นกัน ไม่ได้เดินทุกซอยกัน"ทุกคน"เสียหน่อย)
จากการสังเกต คนที่ท่าทางเป็นแม่บ้าน มีหน้าที่ดูแลบ้าน หรือท่าทางดูเป็นพ่อบ้านที่โดนคนในบ้านฝากมาซื้อของ จะมีระบบระเบียบในการเดินซุปเปอร์มากกว่า คือพอเข้ามาถึงก็ควักกระดาษขึ้นมาว่าจดอะไรไว้บ้าง แล้วเงยหน้าดูป้าย ว่าของนี้ของนั้นอยู่ซอยหมายเลขอะไร ก็เดินตามหากันไป ซื้อ ๆ ๆ ให้ครบแล้วก็กลับ
ส่วนคนอื่น ๆ ที่ไม่ได้มาซุปเปอร์ฯด้วยเหตุผล "จ่ายตลาด" หรือคนที่แวะเข้ามาเพื่อดู ๆ ว่า "มีอะไรที่พอจะเข้าข่ายควรซื้อในวันนี้บ้าง" ก็จะเดินเอ้อระเหยไปทั่ว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยว และคนที่พาเด็กมา (เพราะเด็กจะวิ่งไปทั่ว ผู้ใหญ่ก็เดินไปดูนู่นดูนี่ไป) นอกนั้นก็พวกที่ดูแล้วเข้าซุปเปอร์ฯแบบไม่มีจุดหมาย ประมาณว่าเข้ามาเดินเล่นและหาของกินเล่นเท่านั้น ก็มักจะเดินหลาย ๆ ซอยเพื่อมองหาว่ามีอะไรน่ากินบ้าง
นักท่องเที่ยวนี่ก็เป็นที่รู้กัน ว่าเดินทุกซอยเพราะมัวแต่มองหาขนมหรืออย่างอื่นที่พอจะเป็นของฝากได้ หรือขนมแปลก ๆ ที่อยากซื้อกลับไปฝากคนที่บ้านหรือเพื่อนฝูง อะไรงี้
แล้วก็ ถ้าพูดถึงคนไทยที่ซื้อของในไทย บางครั้งต่อให้เป็นคนที่จดทุกอย่าง อย่างคุณแม่ของเรา พอซื้อครบตามรายการแล้ว ก็ต้องเดินทุกซอยอยู่ดี เพื่อดูว่าลืมอะไรบ้าง เพราะบางทีเวลาอยู่บ้านแล้วจด ๆ เนี่ย มันก็ไม่ได้ครบไปซะทุกอย่าง ถ้าเดินผ่านแล้วเห็นก็จะนึกได้ว่า "อ๊ะ ไอ้นี่ก็ใกล้หมดแล้วนี่นา ซื้อด้วยดีกว่า" ไอ้การยอมเดินเพื่อตรวจสอบซ้ำอีกครั้งนี่แหละค่ะ ประหยัดเวลาและพลังงานได้มากกว่ากลับไปถึงบ้านแล้วเพิ่งรู้ว่ามีของที่ลืมซื้อ เพราะการเดินไล่ดูทุกซอยในซุปเปอร์ โดยมากคงไม่กินเวลานานกว่า ๓๐ นาที และไม่ต้องเผาผลาญเชื้อเพลิงอย่างน้ำมันรถด้วย เทียบกับขับรถกลับบ้าน (ไม่รู้กี่นาที ไกลแค่ไหน และใช้เวลานานเท่าไร) แล้วต้องวกกลับมาใหม่ หรือหาโอกาสมาใหม่ในวันถัด ๆ ไป) มันพูดได้ว่ารอบคอบกว่ากันเยอะ
เพราะงั้นจะบอกว่า ปัจจัยที่ทำให้คนเดินอย่างเร่งรีบเพื่อให้บรรลุจุดประสงค์ในการเข้าซุปเปอร์ หรือจะเดินเอ้อระเหยดูมันทุกซอย มันมีหลายปัจจัย ถ้าจะทำวิจัยให้เห็นดำเห็นแดงกันคงต้องเจาะกลุ่มตัวอย่างลึกกว่านี้ ไม่ใช่แค่ผิวเผิน
เราก็เห็นห้างเป็นที่ตากแอร์เหมือนกันนะคะ เวลาเดิน "ถ้ามีเวลาเหลือเฟือ" ก็เดินทุกซอยเหมือนกัน (หาขนม) อารมณ์ประมาณ "ชั้นไม่ได้ออกจากบ้านมาเพื่อจ่ายตลาดในซุปเปอร์ ชั้นแค่มาห้างแล้วแวะเข้ามาดูของเฉย ๆ" ประมาณนั้นค่ะ แต่ปรกติคนที่ชอบเข้าซุปเปอร์จะเป็นแฟน.... เพราะบางครั้งแม่ครัวที่บ้านเขาจะฝากรายการของจ่ายตลาดมา
ตอบคำถาม....
ก่อนอื่นสารภาพว่าอ่านไม่ครบทุกหน้า ได้อ่านแค่ 4-5 หน้าแรก แล้วก็ 2-3 หน้าสุดท้ายเท่านั้น
อะไรที่แสดงว่าคนไทยรักเมืองไทย
แล้วต้องตอบในสิ่งที่เห็น ไม่ใช่สิ่งที่เป็น....
เท่าที่รู้สึกเอาเองนะคะ คงเป็นการที่คนในสังคมมีน้ำใจให้แก่กัน ที่ประสบพบเจอมาเองก็ เวลาไปไหนก็ตาม ถ้ายืนหรือเดินทำหน้างง ๆ มึน ๆ จะมีคนเข้ามาถามทันทีค่ะว่า "หาอะไรอยู่เหรอคะ" หรือ "จะไปที่ไหนเหรอครับ" อยู่ประเทศไทยไม่ค่อยได้งมทางเองค่ะ มีคนเสนอความช่วยเหลือตลอด บางทีมีคนบอกทางทีสองสามคนก็มี เจอแล้วซึ้งมากมาย
(เคยไปหลงทาง หาร้านอาหารไม่เจออยู่แถวสีลมค่ะ) รู้สึกว่ามันเป็นอะไรที่อบอุ่นนะ เจอแล้วรู้สึกเลยว่า "นี่แหละบ้านเรา"
เห็นด้วยกับหลายคนค่ะ ว่าคนไทย ถ้ารักเมืองไทย ก็ย่อมดูแลสังคม ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ไม่เบียดเบียนคนไทยด้วยกันเอง พอเกิดภัยพิบัติที่ไหน น้ำใจและความช่วยเหลือจะหลั่งไหลไปที่นั่นทันที
แต่อีกอย่างที่เรา "อยาก" ให้คนไทยรักเมืองไทย เป็นสิ่งที่เป็นวัตถุ ไม่ใช่บุคคลหรือจิตใจ ก็คือรัก "ทรัพยากร" ในประเทศบ้าง ถนอมรักษาไว้ ใช้อย่างประหยัด ไม่ผลาญจนเกินจำเป็น จะได้เหลือไว้ให้ลูกหลานได้ใช้หรือได้ดูกันบ้าง และเพื่อประโยชน์ในอนาคตของชาติด้วย เห็นข่าวลักลอบตัดไม้หรือลักลอบล่าสัตว์ทีไรมันปวดใจทุกทีสิน่า
ของบางอย่างมีแต่ในประเทศไทย หรือในไทยกับประเทศอื่นเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้น ก็ยังตัดบ้างล่าบ้างซะจนเกลี้ยง เสียดายเหลือเกินค่ะ
ปัจจุบันนี้คงมีคนรักทรัพยากรของประเทศอยู่มากเหมือนกัน แต่ไม่ค่อยพบเห็นการกระทำนั้นด้วยตัวเองนัก นอกจากการปลูกป่า และรณรงค์ประหยัดพลังงานหรือรักษาสิ่งแวดล้อม