ไปเจอข่าวนี้มา ยาวหน่อย แต่น่าอ่าน..
หรือ กทม. จะฮุบหอศิลป์กรุงเทพฯ?19 มีนาคม 2552
เรื่อง-กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
ภาพ-พงศ์ศักดิ์ ขวัญเนตร
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000031146อาจมีไม่กี่ประเทศในโลกที่การก่อกำเนิดพิพิธภัณฑ์หรือหอศิลปะในเมืองหลวงเป็นเรื่องยากแค้นลำเค็ญ ครั้นพอสร้างขึ้นมาให้เป็นที่เชิดหน้าชูตาได้บ้างก็กลายเป็นว่าการเข็นไปให้รอดกลับหนักหนาเสียยิ่งกว่า
หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มูลค่า 563 ล้านบาท บริเวณสี่แยกปทุมวัน ควรจัดอยู่ในประเภทของหอศิลป์ตามย่อหน้าข้างบน เพราะเปิดใช้ตั้งแต่มิถุนายน 2551 ยังไม่ถึง 1 ปีด้วยซ้ำ ก็เริ่มออกอาการว่าจะยืนระยะอยู่ไม่ได้ ต้องยอมรับว่าหอศิลป์กรุงเทพฯ เปิดแสดงงานศิลปะดีๆ อย่างรอยยิ้มสยามหรือกรุงเทพ 226 และสร้างเสียงตอบรับได้ในระดับหนึ่ง
แล้วเกิดอะไรขึ้น? แหล่งข่าวคนหนึ่งบอกกับเราว่า ขณะนี้หอศิลป์กรุงเทพฯ เป็นหนี้เป็นสินอันเกิดจากการแสดงงานครั้งที่ผ่านๆ มาถึง 20 ล้านเราหอบคำถามนี้ไปให้ ฉัตรวิชัย พรหมทัตตเวที ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ช่วยไขความกระจ่าง เขาตอบว่าตอนนี้หอศิลป์เป็นหนี้อยู่ 20 ล้านจริง แน่นอนว่าฉัตรวิชัยซึ่งเป็นคนอยู่ตรงกลางที่ต้องคอยรับแรงกระแทกทั้งจากฝั่งกรุงเทพมหานครและฝั่งเครือข่ายศิลปินเพื่อหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ย่อมมีคำอธิบาย
แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้น เราไปดูรายละเอียดอื่นๆ ที่ก่อความปริวิตกว่า ‘หรือ กทม. จะฮุบหอศิลป์?’อันว่าหอศิลป์กรุงเทพฯ นั้น เป็นแนวคิดที่เกิดในปี 2537 สมัย ดร.พิจิตต รัตตกุล เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เรื่องรุดหน้าถึงขั้นเลือกพื้นที่บริเวณสี่แยกปทุมวันและประกวดแบบกันเรียบร้อย แต่พอถึงยุคสมัยของ สมัคร สุนทรเวช เขาผู้นี้กลับจะเปลี่ยนแนวคิดของโครงการเสียอย่างนั้น โดยให้หอศิลป์เป็นเพียงส่วนประกอบเล็กๆ ของพื้นที่อาคาร นั่นย่อมเท่ากับเปิดศึกกับบรรดาศิลปินและประชาชนอยู่กลายๆ การต่อสู้เรียกร้องระหว่างเครือข่ายศิลปินกับพ่อเมืองกรุงเทพฯ ดำเนินเรื่อยมา กระทั่งถึงยุคผู้ว่าฯ อภิรักษ์ โกษะโยธิน หอศิลป์กรุงเทพฯ จึงถูกเข็นออกมาให้ยลยิน เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2548 และใช้งานได้ในปี 2551
แต่กว่าจะได้ข้อยุติอันเป็นที่พอใจของทุกฝ่าย ก็ต้องฝ่าฟันการระดมสมอง แสดงความคิดเห็นอย่างเข้มข้น และได้ข้อสรุปในการจัดการหอศิลป์กรุงเทพฯ ว่าควรจัดเป็นรูปมูลนิธิ โดยเป็นแนวคิดที่ผู้ว่าฯ อภิรักษ์เป็นผู้เสนอเอง เนื่องจากถ้าให้อยู่ในความดูแลของ กทม. ซึ่งติดกับระบบราชการ อาจทำให้การบริหารงานไม่คล่องตัว และเมื่อการก่อสร้างเสร็จแล้วก็จะทำการโอนกรรมสิทธิ์จาก กทม. ให้แก่มูลนิธิต่อไปเรื่องน่าจะจบอย่างมีความสุขทุกฝ่าย แต่ก็ไม่เป็นอย่างนั้น เพราะถึงบัดนี้การโอนยังไม่เกิดขึ้น ทำให้การบริหารจัดการหอศิลป์กรุงเทพฯ เป็นไปอย่างลุ่มๆ ดอนๆ และแปลงสภาพเป็นระบบราชการไปโดยปริยาย
โดยเมื่อเร็วๆ นี้มีข่าวออกมาจาก กทม. ว่า ที่ยังไม่สามารถโอนให้ทางหอศิลป์กรุงเทพฯ ดูแลได้ เนื่องจากมีข้อขัดแย้งในทางกฎหมายว่าการดำเนินการในรูปแบบมูลนิธิสามารถทำได้หรือไม่ ถึงแม้ตัวผู้ว่าฯ จะสามารถตั้งมูลนิธิขึ้นมาบริหารทรัพย์สินได้ แต่การโอนทรัพย์สินนี้อาจจะขัดกับมาตรา 96 ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการ กทม. พ.ศ.2528 ซึ่งระบุว่าการจะนำทรัพย์สินของ กทม. ไปเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าตอบแทน จะต้องเสนอเข้าสภา กทม. และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้เห็นชอบเสียก่อน นอกจากนี้ ยังมีการตั้งข้อสังเกตจากทาง กทม. ด้วยว่า การบริหารหอศิลป์กรุงเทพฯ ดำเนินการอย่างไม่โปร่งใส
ในประเด็นเรื่องการหารายได้ พบว่ามีการสรุปไว้ตั้งแต่ต้นว่าจะแบ่งพื้นที่หอศิลป์กรุงเทพฯ 30 เปอร์เซ็นต์ สำหรับให้เอกชนเช่าพื้นที่เพื่อจุนเจือค่าใช้จ่ายของหอศิลป์กรุงเทพฯ ไม่ให้ทาง กทม. ต้องรับภาระเพียงฝ่ายเดียว มุมมองของฝั่งเครือข่ายศิลปินฯ ที่ร่วมกันผลักดันเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้นจึงตั้งข้อสังเกตว่า ข้อกฎหมายคือสาเหตุจริงหรือไม่ที่ทำให้การโอนกรรมสิทธิ์ล่าช้า ในเอกสารรายงานการประชุมวันที่ 2 มิถุนายน 2548 มีการพูดถึงรูปแบบบริหารหอศิลป์กรุงเทพฯ ไว้ ซึ่งมีผู้ว่าฯ อภิรักษ์, รองปลัด กทม. และเครือข่ายศิลปินเข้าร่วมนั้น มีข้อความตอนหนึ่งระบุว่า
‘กรุงเทพมหานครสามารถที่จะโอนกรรมสิทธิ์ที่ไม่มีลักษณะเป็นการจำหน่ายตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครว่าด้วยการพัสดุ การจัดหาประโยชน์ หรือการใช้สิทธิ์อื่นๆ เกี่ยวกับทรัพย์สิน เว้นแต่การเช่า ให้เป็นอำนาจของผู้ว่าฯ กทม. กล่าวคือทรัพย์สินสร้างโดย กทม. แต่โอนทรัพย์สินไปให้แก่บุคคลอื่นซึ่งไม่นำไปหาประโยชน์ โดยพิจารณาจากระเบียบกรุงเทพมหานครที่ออกตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครว่าด้วยการทรัพย์สิน ที่กล่าวว่ากรุงเทพมหานครสามารถโอนอสังหาริมทรัพย์ให้แก่สมาคม มูลนิธิ หรือสาธารณกุศลที่ได้ปฏิบัติสอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ของกรุงเทพมหานครและเป็นประโยชน์แก่กรุงเทพมหานคร ด้วยเหตุนี้กรุงเทพมหานครจึงได้โอนพิพิธภัณฑ์เด็กให้แก่มูลนิธิกรุงเทพมหานครที่กรุงเทพมหานครจัดตั้งขึ้น แต่การโอนนั้นให้อยู่ในระยะเวลา 10 ปี ซึ่งถ้า 10 ปีบริหารได้ดีก็โอนต่อ เพราะฉะนั้นทรัพย์สินของมูลนิธิจึงยังไม่ขาดจากกรุงเทพมหานคร’คำถามจึงมีอยู่ว่า ทำไมเมื่อการประชุมปี 2548 ไม่มีปัญหาข้อกฎหมาย แต่พอปี 2552 กลับมีปัญหาข้อกฎหมาย"ขณะนี้ตัวตึกยังเป็นทรัพย์สินของ กทม. มูลนิธิจะเข้ามาบริหาร ทาง กทม. ต้องโอนให้มูลนิธิเพื่อบริหารจัดการ เพราะว่าเรื่องหนึ่งที่อยู่ในการบริหารจัดการคือการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ แบ่งไว้เป็นส่วนหนึ่งเพื่อแบ่งเบาภาระด้านงบประมาณของทาง กทม. พื้นที่เชิงพาณิชย์จึงเตรียมไว้อยู่แล้ว แต่ยังทำอะไรไม่ได้ เพราะสิทธิการใช้พื้นที่ทาง กทม. ยังไม่โอนให้มูลนิธิ เท่ากับขณะนี้สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ยังเป็นเจ้าของพื้นที่อยู่ การอนุมัติการใช้พื้นที่ยังขึ้นอยู่กับสำนัก มูลนิธิไม่มีอำนาจอะไรเลย การจัดสรรการใช้ประโยชน์จึงยังทำไม่ได้"
“ปัญหาที่ผ่านมาคือโครงการต่างๆ ที่มีการอนุมัติไปแล้ว พบว่าขั้นตอนในการเบิกจ่ายงบประมาณติดขัด ซึ่งฝ่ายเลขานุการและเหรัญญิกของมูลนิธิจะต้องดำเนินการ แต่ผู้ที่ดูแลตรงนี้คือฝ่ายข้าราชการประจำของ กทม. ขั้นตอนจึงถูกดึงเข้าไปสู่ระบบราชการ ทั้งที่เรื่องควรจบที่หอศิลป์ แต่ด้วยโครงสร้างแบบนี้มันกลับไปอยู่ที่ กทม. ซึ่งทางสำนักวัฒนธรรมฯ เป็นผู้ดูเรื่องบัญชี ทำให้ไม่สามารถดำเนินโครงการต่อไปได้ “แม้ว่า กทม. ก็ให้เงินสนับสนุนก้อนหนึ่งแก่หอศิลป์ แต่การเบิกจ่ายทำไม่ได้ เพราะแม้ว่าเงินจะเข้าบัญชีมูลนิธิ แต่คนที่คุมบัญชีมูลนิธิคือข้าราชการประจำ และเขาไม่เซ็น โครงการที่ผ่านมามีงบประมาณค้างจ่ายประมาณ 20 ล้าน ยังไม่มีการเบิกจ่าย ฝ่ายที่เดือดร้อนคือผู้จัดงาน คนที่เข้ามาดำเนินงาน” แหล่งข่าวอธิบาย
ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ กทม. ถูกตอกย้ำมากขึ้น โดยเมื่อไม่นานมานี้มีการส่งจดหมายจากทางสำนักวัฒนธรรมฯ เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องกับหอศิลป์กรุงเทพฯ เพื่อร่วมพูดคุยเกี่ยวกับการจัดการพื้นที่หอศิลป์กรุงเทพฯ แต่ก็มีการทักท้วงจากฝ่ายการเมือง จึงทำให้ฝ่ายข้าราชการต้องยกเลิกการประชุมดังกล่าว แหล่งข่าวตั้งข้อสังเกตว่า
“คำถามคือแล้วที่ศึกษามาก่อนจนสรุปว่าให้ทำเป็นมูลนิธิมันถูกโยนทิ้งไปไหน มีวาระซ่อนเร้นอะไร ได้ข่าวว่ามีการยกเลิกไป เพราะฝ่ายการเมืองทักท้วง ฝ่ายข้าราชการประจำก็หยุดไป แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเขาจะหยุด เรื่องนี้ข้าราชการประจำเป็นคนนำเสนอเรื่องขึ้นโดยที่ผู้ว่าฯ ยังไม่ได้เห็นชอบ ผู้ว่าฯ จึงให้หยุดไว้ก่อน” ถามฉัตรวิชัย เขาก็ว่ามีการส่งหนังสือจริง
“ผมก็ได้รับเชิญ แต่ในที่สุดการประชุมนี้ก็หายไป ไม่ใช่ว่าผมไม่งง แต่คิดว่าคำตอบนี้ต้องให้ผู้ว่าฯ ฝ่ายบริหารของ กทม. เป็นผู้ตอบว่าเกิดอะไรขึ้น ใครเป็นคนจะทบทวน ผมเองก็ไม่ทราบเรื่องนี้”
องค์ประกอบแห่งความหวาดระแวงมีอะไรบ้าง เรารู้ๆ กันอยู่ว่าที่ตั้งหอศิลป์กรุงเทพฯ ถูกเรียกเป็นพื้นที่ทองคำ ความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบประมาณและความพยายามที่จะทบทวนการจัดการบริหารพื้นที่ของฝ่าย กทม. จึงไม่อาจทำให้ฝ่ายที่สนับสนุนหอศิลป์กรุงเทพฯ คิดเห็นเป็นอื่นได้
จุมพล อภิสุข เลขาธิการเครือข่ายศิลปินเพื่อหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร พูดกับเราว่า
"ผมไม่แน่ใจว่าอะไรเป็นอะไร แต่ข่าวที่ออกมาที่ทาง กทม. บอกว่ามีปัญหาเรื่องข้อกฎหมายในการให้มูลนิธิหารายได้ ก็เห็นอยู่แค่นั้น อีกเรื่องหนึ่งที่ไม่เป็นข่าวแต่รู้จากเพื่อนฝูงว่า กิจกรรมที่หอศิลป์ฯ จัดมาตั้งแต่ปีที่แล้ว กิจกรรมทั้งหมดยังไม่ได้รับงบประมาณเลย สังเกตดูว่าตลอดเดือนกุมภาพันธ์ถึงขณะนี้ก็ยังเป็นตึกร้างอยู่ เรื่องข้อกฎหมายต่างๆ มันคุยกันมาตั้งแต่แรกแล้ว ผมก็ไม่เห็นว่า กทม. จะทำอะไร ได้แต่พูด สิ่งหนึ่งที่ข้าราชการ กทม. พยายามคุยกับเราตลอดคือทำนั่นไม่ได้ ทำนี่ไม่ได้ พวกเราก็ไม่รู้จะสร้างมาทำไม ก็อยู่ไปแบบนี้" “ที่ลงหนังสือพิมพ์บอกว่าถ้าเป็นโครงการที่สนับสนุนโดย กทม. แล้วจะเอาไปหาผลกำไรไม่ได้ แล้วก็พูดอยู่แค่นี้ กี่ปีก็พูดแค่นี้ ผมไม่เห็นว่ากฎหมายจะเป็นปัญหาอะไร มันไม่ดีก็แก้ใหม่ซะสิ ปัญหามันอยู่ที่มีอะไรอยู่ในใจของ กทม. ต่างหาก” “มีคนสงสัยว่า กทม. กำลังจะฮุบหอศิลป์กรุงเทพฯ เพื่อหาประโยชน์ในรูปแบบอื่น”“มันก็ไม่ชัดเจน ผมคิดว่า กทม. ก็อยากเห็นหอศิลป์ฯ แต่เขาก็ไม่ไว้ใจพวกเรา เขากลัวว่าพวกเขาจะไม่ได้ประโยชน์ กลัว กทม. จะไม่ได้เครดิต กลัวพวกเราทำอะไรมากเกินกว่าที่พวกเขาจะควบคุมได้ เพราะระบบราชการไทยเป็นระบบควบคุม ในขณะที่วงการศิลปะมันเดินหน้าไปเรื่อยๆ”
คราวนี้ก็ถึงทีของฉัตรวิชัยที่จะให้คำตอบเรื่องงบประมาณและหนี้สิน 20 ล้าน ซึ่งเขามองว่ามันเกิดจากภาวะสุญญากาศทางการเมือง ดังนี้“โดยข้อเท็จจริงแล้ว ไม่มีปัญหาเรื่องงบประมาณสนับสนุน เพราะสภา กทม. ได้อนุมัติมา 2 งวดแล้วทั้งของปีที่แล้วและปีนี้ ดังนั้น โดยทฤษฎีแล้วไม่มีปัญหา แต่มันมีตรงที่ว่ามีสุญญากาศทางการเมือง เพราะเมื่อหอศิลป์ฯ เปิดมาก็มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ พอคุณอภิรักษ์ โกษะโยธินได้รับเลือกกลับมา ก็หายตัวไปอีก มีการเลือกตั้งใหม่ ผู้ว่าฯ คนใหม่ก็ได้เอาเดือนมกราคม ทำให้ตลอดช่วงเวลาที่เราเปิดต้องเจอสุญญากาศ ไม่มีประธานคณะกรรมการมูลนิธิ มันจึงไม่ใช่ปัญหาด้านงบประมาณ แต่เป็นเพราะงบประมาณที่ได้มามันใช้ไม่ได้ กลายเป็นว่าเราก่อหนี้ไว้ประมาณ 20 ล้าน จากงานรอยยิ้มสยามและงานกรุงเทพ 226 ซึ่งโครงการเหล่านี้ได้รับการอนุมัติหมดแล้ว คำถามคือทำไมล่ะ ไม่มีใครเซ็นเช็คเหรอ จริงๆ แล้ว มันก็เป็นอย่างนั้นเพราะเจอสุญญากาศทางการเมือง”แหล่งข่าวบอกกับเราว่า ถึงขณะนี้ รายชื่อประธานมูลนิธิหอศิลป์กรุงเทพฯ ยังเป็นชื่ออภิรักษ์ โกษะโยธิน อยู่เลย ก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะเปลี่ยน จุมพลเสนอทางออกที่น่าสนใจว่า
“ก็เลิกซะ แล้วเอามาเปิดตลาดขายเสื้อผ้า เพราะกรุงเทพฯ ยังมีตลาดนัดอยู่น้อยเกินไป” ?!?!?
แน่นอนว่าเราพยายามติดต่อกับทางผู้ว่าฯ กทม. และสำนักวัฒนธรรมฯ เพื่อเปิดพื้นที่ให้อธิบายข้อเท็จจริงต่างๆ เราเองก็ไม่อยากจะฟังความข้างเดียว แต่ดูเหมือนผู้ว่าฯ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จะงานล้นมือเสียจนไม่สามารถปลีกเวลามาตอบคำถามใดๆ ได้เลยแม้แต่ครึ่งชั่วโมง ส่วนทางผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรมฯ ก็คงจะยังเหน็ดเหนื่อยจากการไปดูงานต่างประเทศทำให้ไม่มีเรี่ยวแรงจะตอบคำถาม โดยเลี่ยงว่ากรณีดังกล่าวกำลังอยู่ในกระบวนการทางราชการจึงไม่สะดวกที่จะเปิดเผยคงมีทั้งฝั่งฝ่ายที่ระแวง กทม. และไม่ไว้ใจกลุ่มศิลปิน ซึ่งเราเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ดีเพราะนั่นจะนำมาซึ่งการตรวจสอบที่เข้มข้น อย่างไรก็ตาม ในกรณีนี้ กทม. ควรจะมีคำอธิบายที่ชัดเจนออกมาสู่สาธารณชนคนกรุงเทพฯ ว่าพวกท่านกำลังคิดอะไร ผู้ว่าฯ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ควรจะแสดงจุดยืนเสียที อย่าปล่อยให้มีเสียงครหาว่าเอาข้าราชการ กทม. ไม่อยู่
ขณะที่มหานครเอกของโลกหลายแห่ง หอศิลป์คือสิ่งบ่งบอกความอารยะและชั้นเชิงในการบริหารเมืองหลวง แต่สำหรับกรุงเทพฯ ลองมองโลกในแง่ดี ความยากลำบากของหอศิลป์กรุงเทพฯ ทั้งการก่อตั้งและการบริหาร อาจเป็นงานศิลปะอันน่าทึ่งในตัวมันเองอย่างหนึ่ง ที่แสดงถึงความแปลกแยกทางความคิด ความใกล้-ไกลของวิสัยทัศน์ ความมืดบอดในคุณค่าของศิลปวัฒนธรรม และบลา บลา บลา ทั้งยังสะท้อนให้เห็นว่า
กรุงเทพมหานครเป็นเมืองแห่งศิลปวัฒนธรรมจริงๆ ดังที่นักการเมืองชอบพูด